พระนครศรีอยุธยา - รมว.วัฒนธรรม ลงพื้นที่เมืองกรุงเก่า หลังยังมีโบราณสถานถูกน้ำท่วมขังอยู่ในทุ่งกว่า 20 แห่ง น้ำลดเร่งฟื้นฟูเสริมความแข็งแรง พร้อมร่วมใจ 5 ศาสนาช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
วันนี้ (14 พ.ย.) ที่วัดพุทไธศวรรย์ ตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เข้ากราบนมัสการพระครูภาวนาภัทรคุณ เจ้าอาวาสวัดพุทไธศวรรย์ พร้อมกับสอบถามถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา ในการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโบราณสถานในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เพื่อสำรวจความเสียหาย หลังจากระดับน้ำได้เริ่มลดลง โดย มีนายภัทรพงษ์ เก่าเงิน ผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบ
โดยพบว่าที่วัดพุทไธศวรรย์ พระอารามหลวง มีโบราณสถานที่สำคัญยังไม่มีแนวป้องกันน้ำท่วม ใช้ตัวแนวกำแพงโบราณสถานทำเป็นแนวป้องกันน้ำท่วมไม่ให้น้ำเข้าท่วมตัวโบราณสถาน ซึ่งตัวกำแพงมีอายุหลายร้อยปี มีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหาย เนื่องจากช่วงที่น้ำท่วมที่ผ่านมาพบว่าแนวกำแพงมีการรั่วซึมของน้ำจำนวนหลายจุด
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีโบราณสถาน 394 แห่ง อยู่บนพื้นที่เกาะเมือง 189 แห่ง โบราณสถานนอกเกาะเมือง 205 แห่ง มีโบราณสถานถูกน้ำท่วม 83 แห่ง แบ่งเป็นนอกเกาะเมือง 80 แห่ง เกาะเมือง 3 แห่ง ซึ่งเป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่นอกแนวคันกั้นน้ำของถนนอู่ทอง และมีโบราณสถานที่สำคัญที่อยู่นอกเกาะเมือง แต่มีระบบป้องกันน้ำท่วมเป็นเขื่อนระบบน็อกดาวน์ที่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้ อย่างเช่น โบราณสถานวัดไชยวัฒนาราม
จากการสำรวจหลังระดับน้ำลด โบราณสถานที่ถูกน้ำท่วมไม่ได้รับความเสียหายถึงขั้นพังทลายลงมา ความเสียหายของโบราณสถานที่เกิดขึ้นจะมีในส่วนของวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง เช่น อิฐ ปูน ที่ผุกร่อนจากการถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน กับสิ่งอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว เช่น ป้ายต่างๆ ม้านั่ง ถังขยะที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งทางอุทยานประวัติศาสตร์จะดำเนินการฟื้นฟูต่อไป ถึงแม้ระดับน้ำจะลดลงไปแล้วแต่ยังมีโบราณสถานอีกประมาณ 20 แห่ง ที่ตั้งอยู่ในทุ่งยังมีน้ำท่วมขังอยู่บ้าง
ทางอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา มีข้อกังวลในเรื่องของพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะประสบปัญหาน้ำท่วมทุกปี เพราะเราไม่สามารถห้ามหรือป้องกันน้ำท่วมได้ ซึ่งหากน้ำท่วมซ้ำอาจจะเกิดผลกระทบต่อตัวโบราณสถานได้ ต้องมีการเสริมความแข็งแรงด้วยการฉีดน้ำปูนเสริมฐานราก เช่น วัดพุทไธศวรรย์ ซึ่งมีโบราณสถานที่สำคัญ ซึ่งทางวัดได้เสนอของบประมาณในการทำแนวป้องกันน้ำท่วม ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการในการจัดสรรงบประมาณและการก่อสร้าง รวมไปถึงโบราณสถานที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่สามรถทำแนวป้องกันน้ำท่วมได้ จะต้องดำเนินการเสริมความแข็งแรงเช่นเดียวกัน
จากนั้นเดินทางไปวัดท่าการ้อง โดยพระครูอนุกูลศาสนกิจ เจ้าคณะอำเภอพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วยพระพิพัฒนศาสนกิจวิธาน รองเจ้าคณะอำเภอพระนครศรีอยุธยา เจ้าอาวาสวัดท่าการ้อง นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ผู้แทนองค์การทางศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพรามณ์-ฮินดู ศาสนาซิกข์ ร่วมในกิจกรรมศาสนิกสัมพันธ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย นำเครื่องสมณบริขารถวายแด่พระภิกษุ สามเณร และมอบเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้นำทางศาสนา ศาสนิกชน และศิลปินพื้นบ้านผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
นายอิทธิพล กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม กรมการศาสนา ร่วมกับองค์การศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ศาสนาซิกข์ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก วัดนาคปรก และวัดสะพาน จัดโครงการศาสนิกสัมพันธ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ระหว่างวันที่ 14-15 พฤศจิกายน 2565 มอบเครื่องอุปโภคบริโภค จำนวน 1,100 ชุด ให้แก่ผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วม อันเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างผู้นำศาสนากับศาสนิกชนในพื้นที่ และเยี่ยมเยียนศาสนสถานต่างๆ โดยนำเครื่องสมณบริขารถวายแด่พระภิกษุ สามเณร จำนวน 400 ชุด และมอบเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้นำทางศาสนาและศาสนิกชน (พุทธ อิสลาม และคริสต์) จำนวน 600 ชุด และศิลปินพื้นบ้าน จำนวน 100 ชุด โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ประสบภัยในพื้นที่ หมู่ 4, 6 และ 7 ตำบลบ้านป้อม อำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยา และหมู่ 1, 2 ตำบลไม้ตรา อำเภอบางไทร เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติในเบื้องต้น
โดยการจัดโครงการศาสนิกสัมพันธ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยครั้งนี้ แสดงถึงความห่วงใยของภาครัฐ องค์การทางศาสนาทุกศาสนา และองค์กรเครือข่ายภาคเอกชนที่มีต่อประชาชนชาวไทย เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างหน่วยงานของรัฐและศาสนิกชนทุกศาสนา ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมแก่ประชาชน บนพื้นฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งเน้นการสร้างความรัก ความสามัคคีในสังคมไทย โดยทุกองค์การศาสนาในประเทศไทยต้องร่วมกันส่งเสริมให้ศาสนิกชนนำหลักธรรมทางศาสนาไปสู่การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ศาสนิกชนเป็นคนดี มีคุณธรรม ร่วมเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ร่วมทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีและความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนต่างศาสนา ทำให้ประเทศมีความสงบร่มเย็นอย่างยั่งยืนสืบไป