อพท.สร้างต้นแบบ “ท่องเที่ยวยั่งยืน” ขยายผลนำองค์ความรู้ด้านการจัดการการท่องเที่ยวตามมาตรฐานสากลสู่กลุ่มจังหวัด ประเดิม “ภาคเหนือตอนล่าง” บรรจุแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวมาตรฐาน GSTC แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก หรือ TOP100 การยกระดับเมืองสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ และเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ ในแผนพัฒนาจังหวัดพิษณุโลก ระยะ 5 ปี
นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. กล่าวว่า ได้ดำเนินการนำความสำเร็จจากการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมรดกโลกสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร มาขยายผลสู่หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง และเขตพัฒนาการท่องเที่ยวมรดกโลกด้านวัฒนธรรม
การผลักดันของ อพท.มีผลให้กำหนดเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดในกลุ่มภาคเหนือตอนล่าง ว่าแหล่งท่องเที่ยวต้องได้มาตรฐาน GSTC และแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก หรือ TOP100 การยกระดับเมืองให้เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ และเมืองแห่งการเรียนรู้ (GNLC) ขององค์การยูเนสโก โดยบรรจุลงในแผนพัฒนาจังหวัดสุโขทัย พ.ศ. 2566-2570 แผนพัฒนาจังหวัดพิษณุโลก พ.ศ. 2566-2570 แผนปฏิบัติการพัฒนาการท่องเที่ยว ภายในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวมรดกโลกด้านวัฒนธรรม พ.ศ. 2566-2570 รวมทั้ง จังหวัดอุตรดิตถ์
กำหนดแนวทางการดำเนินงานดังกล่าวเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ แผนปฏิบัติราชการจังหวัดสุโขทัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ได้กำหนดโครงการเมืองสร้างสรรค์ เมืองแห่งการเรียนรู้ และมรดกโลกเอาไว้ดำเนินงานเรียบร้อยแล้ว
“เราได้รับการยอมรับและเชื่อมั่นจากจังหวัดในกลุ่มภาคเหนือตอนล่าง เป็นผลจากการดำเนินงานของ อพท.ที่ได้ใช้องค์ความรู้ที่มีการยอมรับตามมาตรฐานสากล ทั้งเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของโลก (GSTC) มาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT Thailand) องค์ความรู้การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ มาตรฐานการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (STMS)
เครื่องมือการประเมินผลการบริหารจัดการนักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งมรดกโลก (VMAST) เมืองสร้างสรรค์ และเมืองแห่งการเรียนรู้ขององค์การยูเนสโก เป็นเครื่องมือ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งเป็นแนวทางการประเมินศักยภาพของพื้นที่ท่องเที่ยว และแนวทางการพัฒนาที่สามารถปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนตามมาตรฐานสากล”
อพท.เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่สร้างต้นแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้ประเทศไทยในรูปแบบต่างๆ และทำหน้าที่บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ส่งผลให้พื้นที่ที่ อพท.เข้าไปดำเนินงานประสบความสำเร็จ เช่น การผลักดันเมืองท่องเที่ยวให้เข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ และสมาชิกเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ (GNLC) ขององค์การยูเนสโก แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก หรือ Green Destinations Top 100 เป็นต้น
ในส่วนของพื้นที่จังหวัดสุโขทัย อพท. สามารถผลักดันให้จังหวัดสุโขทัยได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ในปี พ.ศ. 2562 และเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ (GNLC) ในปี พ.ศ. 2565 และผลักดันจังหวัดเพชรบุรีเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารขององค์การยูเนสโก ในปี พ.ศ. 2564
เป้าหมายการทำงานของ อพท. คือพัฒนาต้นแบบ หรือ Model การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ในพื้นที่ที่ประกาศให้เป็น “พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” รวมถึงพื้นที่ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล และนโยบายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแล อพท.
ในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมรดกโลกสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร อพท.ได้ดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2554 ครอบคลุมพื้นที่ 9 อำเภอของจังหวัดสุโขทัยและ 3 อำเภอของจังหวัดกำแพงเพชร
ผลของการพัฒนาทำให้เกิดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์กระจายในทุกแหล่งท่องเที่ยว มีแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ได้มาตรฐาน CBT Thailand จำนวนมาก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้จัดการท่องเที่ยวตามมาตรฐาน STMS แหล่งท่องเที่ยวตำบลเมืองเก่าสุโขทัยได้รับรางวัล Green Destinations Top 100 และจัดการมรดกโลกด้วยเครื่องมือ VMAST การฟื้นฟูและพัฒนาลายสือไทยให้เป็นกิจกรรมท่องเที่ยว
ล่าสุดองค์การยูเนสโกรับรองจังหวัดสุโขทัยให้เป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน และสมาชิกเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ (GNLC) อพท.จึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืนระดับนานาชาติ เพื่อรองรับการท่องเที่ยววิถีใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ภายใต้นโยบายการท่องเที่ยวคุณภาพของรัฐบาลนับจากนี้ต่อไป