ศูนย์ข่าวศรีราชา - สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นการจัดทำแผนแม่บทขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) กำหนดหมุดหมาย 11 เมือง เร่งยกระดับสู่สมาร์ท ซิตี
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้จัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นการจัดทำแผนแม่บทในการดำเนินงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) ที่ศูนย์ประชุมโรงแรมบางแสนเฮริเทจ จ.ชลบุรี
โดยได้รับเกียรติจาก ดร.อภิชาต ทองอยู่ ที่ปรึกษาพิเศษด้านการพัฒนาการศึกษาบุคลากรและพื้นที่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวเปิดงาน และให้ข้อมูลถึงยุทธศาสตร์ที่มีการทำงานล่วงหน้ามาร่วมครึ่งปีที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนเพื่อนำไปสู่ภาพรวมของเศรษฐกิจระดับประเทศ
และได้กำหนดหมุดหมาย 11เมืองที่จะเร่งยกระดับ เริ่มตั้งแต่บางแสน บางพระ ศรีราชา พัทยา บางเสร่ พลูตาหลวง แสมสาร จ.ชลบุรี และพลา บ้านฉาง ตะพง เพ จ.ระยอง ซึ่งถือเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่ผสมผสานอัตลักษณ์ท้องถิ่นและการท่องเที่ยวชุมชนเข้าด้วยกัน ซึ่งมีความพร้อมในการยกระดับความเจริญด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ การคมนาคม โลจิสติกส์ อันจะนำไปสู่ทิศทางที่เรียกว่าสมาร์ท ซิตี
ขณะที่ ดร.งามเนตร เอี่ยมนาคะ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ กองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ร่วมบรรยายข้อมูลที่เป็นประโยชน์ซึ่งได้กล่าวถึงคำว่า Wellness Tourism ก้าวไปเกินกว่าคำความเฮลท์ หรือสุขภาพไปไกลมาก ถือเป็นเทรนด์กระแสโลก และเป็นโอกาสที่แข็งแรงมากของประเทศไทย
ดังนั้น EEC Wellness Corridor นอกจากจะมีความหลากหลายของมิติในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม ความมั่งคั่งทางธุรกิจของพื้นที่นี้แล้ว ยังมีจุดแข็งในเรื่องของนโยบายที่เข้มแข็ง พร้อมสอดรับกับการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ถือเป็นการกระจายโอกาสทางการพัฒนาชัดเจน ต่อไปเศรษฐกิจสุขภาพจะเป็นวาลูเชนของระบบเศรษฐกิจหลักของประเทศไทยที่สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยกลไกการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
ด้าน ดร.ธัชพล กาญจนกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สายงานพื้นที่และชุมชนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้กล่าวสรุปการจัดงานพร้อมร่วมรับฟังข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับแผนแม่บทร่วม 50 คน
อันจะนำไปสู่การจัดทำแผนแม่บทในการดำเนินงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) เพื่อประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานตามแนวทางแผนแม่บทต่อไป