ศูนย์ข่าวขอนแก่น - คณะกรรมการลุ่มน้ำชีเบรกเขื่อนอุบลรัตน์ เพิ่มการระบาย หวั่นพื้นที่ท้ายเขื่อนได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมเพิ่มขึ้น ระบายสูงสุด 54 ล้าน ลบ.ม.ได้ถึงแค่ 19 ต.ค.นี้ จากนั้นให้ปรับการพร่องน้ำลดลง ย้ำท้องถิ่นต้องดูแลประชาชนใกล้ชิด ช่วงน้ำท่วมต้องไม่มีประชาชนอดข้าวอดน้ำ
วันนี้ (13 ต.ค.) นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า หลังจากคณะกรรมการลุ่มน้ำชีได้มีการประชุมหารือกันครั้งล่าสุด ในที่ประชุมมีมติให้ระงับการขอเพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งทางเขื่อนต้องการเพิ่มการระบายน้ำออกมากกว่าวันละ 54 ล้าน ลูกบาศก์เมตร เพื่อลดปัญหาน้ำเอ่อท่วมในพื้นที่เหนือเขื่อน โดยมติคณะกรรมการอนุญาตให้เขื่อนอุบลรัตน์ระบายน้ำวันละ 54 ล้านลูกบาศก์เมตรไปจนถึงวันที่ 19 ต.ค. 65 นี้เท่านั้น
จากนั้นให้ลดการระบายเหลือวันละ 52 ล้านลูกบาศก์เมตร ระหว่างวันที่ 20-22 ต.ค. 65 และให้ระบายลดเหลือวันละ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร ระหว่างวันที่ 23 ต.ค. 65 ถึงวันที่ 2 พ.ย. 65 จากนั้นจะมีการเรียกประชุมคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาการระบายน้ำอีกครั้ง เพราะขณะนี้พื้นที่ท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ ตั้งแต่อำเภอน้ำพอง อำเภอเมืองขอนแก่น มีพื้นที่ทางการเกษตรถูกน้ำท่วมจำนวนมาก
อีกทั้งน้ำพองที่ระบายออกมา ลำน้ำทั้ง 2 สายได้บรรจบกันที่อำเภอเมืองขอนแก่น ทำให้เกิดน้ำทั้ง 2 สายหนุนกัน
นายไกรสรกล่าวต่อว่า การปรับลดการระบายน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์จะช่วยการจัดการจราจรน้ำได้ดีขึ้น เพราะเมื่อน้ำในแม่น้ำปริมาณในลำน้ำลดลง น้ำจากน้ำพองก็จะไหลคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งขณะนี้จุดที่น้ำพองกับแม่น้ำชีมารวมกัน เปรียบเสมือนอ่างเก็บน้ำ มีปริมาณที่ท่วมขัง 1,200 ล้านลูกบาศก์เมตร
หากลดการระบายน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ตามแผนดังกล่าว คาดว่าจะทำให้น้ำพองที่ล้นตลิ่ง ปริมาณน้ำจะลดลงต่ำกว่าตลิ่งภายใน 25 วัน
นายไกรสรกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้จังหวัดขอนแก่นมีพื้นที่ทางการเกษตรถูกน้ำท่วมขังไปแล้วกว่า 2 แสนไร่ ตนได้กำชับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรืออำเภอ ดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด เร่งแจกข้าวของเครื่องใช้ให้ทั่วถึง ห้ามให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมอดข้าวเป็นอันขาด และให้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงด้วยหากน้ำเข้าท่วมบ้านให้เร่งอพยพออกมาที่ปลอดภัยทันที และให้ท้องถิ่นเร่งใช้งบฉุกเฉินได้เลยไม่ต้องให้จังหวัดประกาศพื้นที่ประสบภัย และอยากให้ทางจังหวัดประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติก็ให้รีบแจ้งมาทันทีเพราะจะได้รีบเซ็น เพื่อจะได้ช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที
“ท้องถิ่นไหนไม่มีงบประมาณเพียงพอให้รีบขอเข้ามาทางจังหวัดทันที เพราะเป็นนโยบายที่รัฐบาลกำชับ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศเร่งช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยอย่างเต็มที่” นายไกรสรกล่าวย้ำ