xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กป้อม” สั่งเร่งสร้างพนังกั้นน้ำมูลอุดฟันหลอ-ดันแผนผันน้ำชี แก้น้ำท่วมอุบลฯ ซ้ำซาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุบลราชธานี - “บิ๊กป้อม” รองนายกฯ ในฐานะ ผอ.กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ สั่งกรมโยธาธิการและผังเมืองเร่งสร้างพนังกั้นแม่น้ำมูลส่วนที่เป็นฟันหลอ 3 ชุมชนฝั่งเทศบาลเมืองวารินชำราบ แก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากให้เสร็จในปี 2567 พร้อมดันแผนดำเนินการผันน้ำชี เผยวารินฯ ยังท่วมสูง 4.5 เมตร ทั้งจังหวัดจม 19 อำเภอ อพยพหนีน้ำ 2.5 หมื่นคน พื้นที่เกษตรเสียหายกว่า 3 แสนไร่

วันนี้ (12 ต.ค.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เดินทางมาติดตามการแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดอุบลราชธานี โดยเข้ารับฟังการบริหารจัดการน้ำและการเกิดอุทกภัยที่ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าพื้นที่อุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำนักงานชลประทานที่ 7 จ.อุบลราชธานี


โดย ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เสนอภาพรวมสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูล ร่วมกับกรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มณฑลทหารบกที่ 22 นำเสนอสถานการณ์อุทกภัย และการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยของจังหวัดอุบลราชธานี

พร้อมได้ลงติดตามสถานการณ์แม่น้ำมูลที่ไหลท่วมบ้านเรือนประชาชนที่ท่าน้ำวัดหลวง เทศบาลนครอุบลราชธานี ซึ่งมีเจ้าหน้าที่กรมชลประทานมาคอยอธิบายปัญหาของพื้นที่อำเภอวารินชำราบ ซึ่งมีระดับต่ำกว่าฝั่งอำเภอเมืองอุบลราชธานี 1 เมตร จะถูกน้ำท่วมสูงกว่าอำเภอเมืองอุบลราชธานี 1 เมตร โดยวันนี้มีน้ำท่วมสูง 4.51 เมตร


ส่วนวิธีการแก้ปัญหาต้องมีการสร้างพนังกั้นน้ำในส่วนที่เหลือบริเวณชุมชนท่ากอไผ่ ชุมชนหาดสวนยา และชุมชนช่างหม้อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จึงสั่งการให้สำนักงานโยธาและผังเมืองวางแผนดำเนินการก่อสร้างในแต่ละปี ที่ไหนต่ำที่สุดสร้างก่อนไปตามลำดับ เพื่อน้ำจะได้ไม่ท่วมอีก เพราะรัฐบาลมีแผน 20 ปีให้ดำเนินการทำได้เลย

เจ้าหน้าที่ยืนยันจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 และยังมีการเสนอแผนการทำเส้นทางผันน้ำจากลำน้ำชี ไปลำเซบาย เซบก ไปลงหลังแก่งสะพือประมาณ 800 คิว (ลูกบาศก์เมตร) จุดที่สองจะผันน้ำ แม่น้ำมูลเหนือเขื่อนหัวนาออกไปอีก 1,200 คิว จะสามารถตัดน้ำออกจากลำน้ำทั้งสองแห่งได้ 2,000 คิว ถ้าน้ำไหลมา 4,000 คิว ก็ไม่ทำให้เกิดน้ำท่วม ซึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สั่งให้รีบดำเนินการออกแบบเรื่องทำพนังกั้นน้ำไว้ก่อน รอเพียงงบประมาณมาก็ให้ดำเนินการก่อสร้างในทันที ก่อนจะเดินทางต่อไปดูสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดศรีสะเกษ


สำหรับจังหวัดอุบลราชธานี มีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 19 อำเภอ ทำให้ประชาชนกว่า 25,380 คนต้องอพยพหนีน้ำ โดยอำเภอวารินชำราบมีประชาชนอพยพมากที่สุดกว่า 10,700 คน รองลงมาเป็นอำเภอพิบูลมังสาหาร และอำเภอเมืองอุบลราชธานี พื้นที่เกษตรกรรมเสียหายกว่า 317,000 ไร่ ถนนถูกน้ำท่วม 86 สาย สะพาน 8 แห่ง วัด 65 แห่ง โรงเรียน 52 โรง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 9 แห่ง ปศุสัตว์ทั้งโค กระบือ และสัตว์ปีก 566,000 ตัว






กำลังโหลดความคิดเห็น