xs
xsm
sm
md
lg

ประชาชนนับหมื่นแห่ทำบุญตักบาตร มหัศจรรย์ข้าวต้มลูกโยน ที่วัดพระพุทธฉาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สระบุรี - ประชาชนนับหมื่นแห่มาทำบุญตักบาตร มหัศจรรย์ข้าวต้มลูกโยน ที่วัดพุทธฉาย จังหวัดสระบุรี เพื่อเป็นการอนุรักษ์ ฟื้นฟู วัฒนธรรม ประเพณีที่ดีงามให้คงอยู่คู่จังหวัดสระบุรี และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีมาแต่โบราณ โดยมี "รำวงสระบุรี" ที่ใช้คนมากที่สุดกว่า 2,000 คน

วันนี้ (11 ต.ค.) ที่วัดพระพุทธฉาย นายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธานเปิดงานประเพณีตักบาตรข้าวต้มลูกโยน ประจำปี 2565 โดยมี นายธนกฤต อัตถะสัมปุณณะ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรีต้อนรับ พร้อมด้วยหัวหน้าองค์กรส่วนท้องถิ่น ทหาร ตำรวจ แขกผู้มีเกียรติ นางรำกว่า 2000 คน ผู้สื่อข่าว ประชาชนเข้าร่วมงานในครั้งนี้เป็นจำนวน มาก

จังหวัดสระบุรี ได้ร่วมกับวัดพระพุทธฉาย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย องค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี และทุกภาคส่วนร่วมกันจัดงานมหัศจรรย์ข้าวต้มลูกโยนแห่งสระบุรี ประจำปี 2565 ณ วัดพระพุทธฉาย ตำบลหนองปลาไหล จังหวัดสระบุรี วันที่ 11 ต.ค.เพื่อเป็นการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ส่งเสริม วัฒนธรรม ประเพณีที่ดีงามให้คงอยู่คู่จังหวัดสระบุรี และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีซึ่งมีมาแต่โบราณกาล

โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนจะได้ปลูกฝังความรัก ความกตัญญูต่อพ่อแม่ ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่างที่พระองค์เสด็จจำพรรษาในเทวโลกชั้นดาวดึงส์ แสดงพระอภิธรรมปิฎก เพื่อตอบแทนคุณของพุทธมารดา ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าทรงพระชนมายุ อยู่นั้น ทรงเสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และกลับมายังมนุษยโลกที่เมืองสังกัสคีรี ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ประชาชนต่างมารอเฝ้ารับเสด็จพระสัมมาสัมมาพุทธเจ้า ในวันนั้นท่านได้กล่าวว่าเป็นวันเปิดโลก ทำให้โลกมนุษย์ สวรรค์ และนรก ต่างเห็นกันและกัน ประชาชนที่มาจำนวนมากที่มาเฝ้ารอเสด็จต่างปรารถนาใส่บาตรพระพุทธองค์ โดยประชาชนที่อยู่ห่างออกไปไม่สามารถจะใส่บาตรได้ถึง จึงใชเวิธีการโยนอาหารของตนลงในบาตรของพระพุทธเจ้า และพระสาวก โดยอาหารเหล่านั้นตกลงในบาตรเป็นที่อัศจรรย์

สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้นในงานมีขบวนแห่ข้าวต้มลูกโยนของชุมชนต่างๆ ที่มาร่วมงานพร้อมกันหน้าบริเวณโรงเรียนวัดพระพุทธฉาย หลังจากนั้น ขบวนแห่ข้าวต้มลูกโยนเคลื่อนขบวนไปยังวัดพระพุทธฉาย และชมการรำวงในบทเพลง "รำวงสระบุรี" ที่ใช้คนมากที่สุดกว่า 2,000 คน เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และจะเริ่มพิธีการตักบาตรข้าวต้มลูกโยน ซึ่งมีการจำลองการเสด็จลงมาจากสวรรค์ขององค์สัมมาสัมมาพุทธเจ้า เสด็จลงมาจากชั้นดาวดึงส์ เพื่อลงมายังโลกมนุษย์ เพื่อโปรดสัตว์ และมนุษย์โลก โดยมีริ้วขบวน นางฟ้า นางสวรรค์ เทวดาเสด็จร่วมขบวน ในระหว่างขบวนแห่มีชาวบ้านรอใส่บาตรด้วยข้าวต้มลูกโยน ข้าวสาร อาหารแห้ง ผลไม้แก่พระภิกษุ สามเณร และภายในงานยังมีกลุ่มแม่บ้านสาธิตวิธีการทำข้าวต้มลูกโยนให้นักท่องเที่ยวได้ชม

วัดพระพุทธฉายได้ริเริ่มฟื้นฟูประเพณีใส่บาตรข้าวต้มหาง หรือใส่บาตรข้าวต้มลูกโยน โดยพระราชธีราภรณ์ รองเจ้าคณะภาค 2 เจ้าอาวาสวัดพระพุทธฉาย กว่า 10 ปีมาแล้ว และปฏิบัติต่อเนื่องมา ทำให้งานประเพณีตักบาตรข้าวต้มลูกโยนของวัดพระพุทธฉายเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายไปทั่วประเทศ เนื่องจากมีพุทธศาสนิกชนจำนวนมากมาร่วมพิธีนับหมื่นคน สำหรับการทำข้าวต้มลูกโยน หรือข้าวต้มหาง ลักษณะคล้ายข้าวต้มมัดแต่มีขนาดเล็กกว่า อีกทั้งในรูปแบบการห่อมีเอกลักษณ์โดดเด่นโดยจะไว้หางยาวเพื่อความสะดวกในการใส่บาตร ซึ่งผู้ที่ทำได้เล่าถ่ายทอดถึงการทำข้าวต้มลูกโยนว่า ข้าวต้มลูกโยน หรือข้าวต้มหาง ทำมาจากข้าวเหนียว ซึ่งจะนำมาผัดกับกะทิคล้ายกับการทำข้าวต้มมัด แต่จะมีขนาดเล็กกว่า ข้าวต้มลูกโยนที่นี่จะใส่กล้วยถั่วดำและใส่กล้วยสุก แล้วนำมาห่อซึ่งรูปแบบการห่อจะนำใบเตยทำเป็นกรวยม้วนพันไปจนหุ้มข้าวเหนียวโดยทิ้งชายไว้ จากนั้นจะมัดด้วยไม้กลัดก่อนนำไปนึ่งให้สุกอีกประมาณ 7 ถึง 10 นาทีอีกครั้ง

ข้าวต้มลูกโยนในวิธีการทำอาจคล้ายคลึงกันใช้ใบไม้ได้หลายชนิดในการห่อ อย่างที่นี่ใช้ใบเตย ซึ่งเมื่อนำไปนึ่งจะมีกลิ่นหอมและเมือสุกแล้ว แกะออกมาจะมีลักษณะคล้ายหยดน้ำ ทำให้น่ารับประทาน และสามารถเก็บไว้ได้นานกว่า 3 วัน ในอุณหภูมิปกติ อีกทั้งการทำข้าวต้มลูกโยนยังถ่ายทอดความสามัคคี ความร่วมมือร่วมใจในการสืบรักษาประเพณีของชุมชน การทำข้าวต้มลูกโยน หรือข้าวต้มหาง จะนิยมทำขึ้นในวันออกพรรษา ประเพณีนี้ชาวบ้านปฏิบัติสืบสานมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเป็นประเพณีเก่าแก่ของที่นี่ ซึ่งทุกบ้านจะทำข้าวต้มลูกโยนเพื่อนำไปทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะ










กำลังโหลดความคิดเห็น