พิษณุโลก – สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ ผนึก ททท.-ชาวบ้านกร่าง..ดันขนมโบราณบ้านหัวแท ร้อยเรียงประวัติศาสตร์ เชื่อมโยง “เจ้าไก่แก้ว” ต้นกำเนิดเหลืองหางขาว-ไก่ชน “พระองค์ดำ” ผสานตำนาน”เมืองพระยายมราช” ขึ้นชั้นของฝากเมืองสองแคว
นางศศิวัณย์ ศรีพรหม ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพิษณุโลก/ นายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือจังหวัดพิษณุโลก, นางสาวญาติกา แก้วบริสุทธิ์ ผอ.ททท สนง.พิษณุโลกและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านหัวแท ได้ตั้งโต๊ะ-ตั้งกระทะ โชว์ทำ “ขนมไส้ไก่เจ้าไก่แก้ว” เมื่อเร็วๆนี้ ที่ศูนย์เรียนรู้บ้านหัวแท หมู่ 8 ต.บ้านกร่าง อ.เมือง พิษณุโลก เพื่อร่วมผลักดันให้ขนมโบราณที่ทำสืบสอดกันมาหลายชั่วอายุคน เป็นของดีชุมชนและของฝากจังหวัดพิษณุโลกต่อไป
ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพิษณุโลก บอกว่า บ้านหัวแท บ้านกร่าง มีประวัติยาวนานตั้งแต่เมื่อครั้งองค์สมเด็จพระนเรศวร มีพระชนม์มายุ 8 พรรษา เสด็จมายังบ้านหัวแทแห่งนี้ ปัจจุบันชาวบ้านร่วมกันสร้างศาลสมเด็จพระนเรศวรทรงพระเยาว์มือขวาอุ้มไก่คู่กาย นามว่า “เจ้าไก่แก้ว”
ส่วน “ขนมไส้ไก่เจ้าไก่แก้ว” เป็นการนำถั่วเหลืองไปคั่วให้หอม จากนั้นนำไปนึ่งแล้วบดผสมกับข้าวตอก ก่อนนำน้ำตาลมะพร้าวไปเคี่ยวกับหัวกะทิและเติมน้ำตาลเล็กน้อย นำมาเคล้ารวมกันกับถั่วและข้าวตอกที่ผสมไว้ให้เข้ากัน ปั้นเป็นเส้นคล้ายไส้ไก่ ชุมแป้งสาลีผสมไข่ทอดในน้ำมันด้วยไฟกลางจนเหลือง ทานแล้วได้รสชาติกลมกล่อมจากรสถั่วหอมกะทิหวาน ดังนั้นชาวบ้านหัวแทจึงตั้งชื่อขนมว่า ขนมไส้ไก่เจ้าไก่แก้ว
นางสาว ญาติกา แก้วบริสุทธิ์ ผอ.ททท.สนง.พิษณุโลก บอกว่า ททท.ลงมาดูพื้นที่บ้านหัวแท เชื่อว่ามีศักยภาพ สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่ง จากประวัติศาสตร์ของสมเด็จพระนเรศวรและต้นกำเนิดของไก่ชนเหลืองหางขาว กระทั่งมีขนมของดีของชุมชนต่างๆ ททท.จะร่วมผลักดันให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวต่อไป
ทั้งนี้ประวัติ ต.บ้านกร่าง เชื่อมโยงกับ “เมืองพระยายมราช” ซึ่งอดีตเมืองยุคเก่า มีแม่น้ำไหลมาจาก ต.จอมทอง ผ่านวัดพระยายมราช เคยมีเรือสำเภาจากเมืองจีนมาจอดที่หน้าเมืองวังพิง และเมืองวังพิงมีเจ้าเมืองที่มีความเด็ดขาด คือ พระยายมราช ปรากฏซากปรักหักพังของโบราณวัตถุ เป็นวัดที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงโปรดสร้างขึ้นเพื่อเผยแพร่และทำนุบำรุง ศาสนา ศิลปวัตถุดังกล่าวมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับสมัยกรุงสุโขทัย
บ้านหัวแท หมู่ 8 ต.บ้านกร่าง จึงมี”วัดพระยายมราช”เป็นวัดเก่าแก่โบราณนับอายุหลายร้อยปี แต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่า สร้างในยุคใด แต่มีคำบอกเล่าของหลวงพ่อตุ๊เจ้าป่า ระบุว่า เป็นเมืองเก่าแก่ ในยุคนั้นเมืองมีชื่อว่า “เมืองพิงหรือวังพิง” ต่อมาได้เกิดอาเพศเมืองพังถล่มลงน้ำ จึงกลายเป็นเมืองร้างตั้งแต่นั้นมา ปัจจุบันยังคงมีซากของโบราณวัตถุเช่น เศษอิฐเก่าหักพังจมดินจมทรายอยู่เต็มวัด ซึ่งกรมศิลปากร ได้บูรณะปฏิสังขรณ์ไว้บางส่วน