ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ผอ.ชลประทานนครราชสีมายัน 4 เขื่อนใหญ่โคราชรองรับน้ำจาก “พายุโนรู” ถล่มได้สบายไม่น่ากังวล เร่งบริหารจัดการน้ำให้มีผลกระทบน้อยที่สุด ชี้ อ.พิมายน่าห่วงเป็นจุดรับน้ำและมีน้ำสะสมจำนวนมาก เร่งผลักดันน้ำลงแม่น้ำมูลให้มากที่สุด ย้ำอ่างเก็บน้ำทุกแห่งในโคราชแข็งแรงไม่มีแตกแน่
วันนี้ (28 ก.ย.) นายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา เปิดเผยถึงการบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับผลกระทบที่เกิดจากพายุโนรู ซึ่งจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากตั้งแต่วันที่ 28-30 ก.ย.นี้ ว่า ล่าสุดวันนี้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ หรือเขื่อนขนาดใหญ่จำนวน 4 แห่งของ จ.นครราชสีมา มีประมาณรวมร้อยละ 78 ของความจุรวม 885 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยอ่างฯ ลำตะคอง อ.สีคิ้ว มีปริมาณน้ำ 258 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 82.26% ของขนาดความจุ 314 ล้านลบ.ม., อ่างฯ ลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มีปริมาณน้ำ 122 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 78.73% ของขนาดความจุ 155 ล้าน ลบ.ม., อ่างฯมูลบน อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำ 108 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 76.92% ของขนาดความจุ 141 ล้าน ลบ.ม. และอ่างฯ ลำแชะ อ.ครบุรี มีปริมาณ 209 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 76.34% ของขนาดความจุ 275 ล้าน ลบ.ม.
ยืนยันว่าทุกอ่างฯ ยังสามารถรับน้ำจากพายุ “โนรู” ที่จะเข้ามาในอีกไม่กี่ชั่วโมงนี้ เนื่องจากก่อนหน้านี้เราทำการพร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำทุกแห่งไปบ้างแล้ว โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา แม้ว่าจะมีปริมาณน้ำมากกว่าอ่างเก็บน้ำอื่นถึงร้อยละ 81 ของความจุอ่าง แต่เนื่องจากได้มีการเสริมประตูระบายน้ำอีก 60 ล้าน ลบ.ม.ไปก่อนหน้านี้จึงไม่น่ากังวล โดยตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจะลดการระบายน้ำลงให้น้อยที่สุดหรือบางจุดหากต้องหยุดระบายน้ำก็จะหยุดซึ่งประเมินสถานการณ์ในลำน้ำก่อน จนกว่าสถานการณ์ของพายุ “โนรู” จะผ่านพ้นไปแล้วจะมีการบริหารจัดการน้ำอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม อ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กของ จ. นครราชสีมา จำนวน 23 แห่งนั้น มีจำนวน 10 อ่างฯ ที่มีปริมาณน้ำเกินความจุและล้นออกมาท่วมพื้นที่โดยรอบแล้ว ซึ่งได้แจ้งเตือนประชาชนให้นำกระสอบทรายมาป้องกันที่พักอาศัยและจุดเสี่ยงสำคัญ
นายกิติกุลกล่าวอีกว่า จุดที่น่าห่วงคือในพื้นที่ อ.พิมาย เพราะเป็นจุดรับน้ำ ขณะนี้ทางชลประทานจังหวัดได้เร่งระบายและผลักดันน้ำลงลำน้ำมูลให้มากที่สุด โดยเขื่อนพิมายสามารถระบายน้ำได้ประมาณวันละ 14 ล้าน ลบ.ม. ขณะเขื่อนพิมายยังสูงกว่าลำน้ำมูลประมาณ 17 ซม. แต่มีแนวโน้มระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ตอนนี้ที่ต้องเฝ้าระวังคือ จากอิทธิพลของโนรูจะทำให้ฝนตกต่อเนื่องหลายวัน ฉะนั้นพื้นที่ลุ่มจะเป็นจุดเสี่ยงน้ำท่วมมากที่สุด ประชาชนอย่าชะล่าใจต้องรีบเก็บของขึ้นที่สูงและอยู่ในที่ปลอดภัย
จากการสำรวจและตรวจสอบอ่างเก็บน้ำทุกแห่งทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมารวม 26 แห่ง ยืนยันว่าทุกอย่างมีความแข็งแรงและปลอดภัย โดยเฉพาะลำเชียงไกรตอนล่าง ซึ่งเคยมีปัญหาก่อนหน้านี้ ขณะนี้การก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์และมีความแข็งแรง สิ่งสำคัญคือปัจจัยที่เราไม่สามารถควบคุมได้คือ ปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาจากอิทธิพลของพายุโนรูว่าจะมากน้อยเพียงใด แต่เราพยายามบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มที่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด หากไม่มากเหมือนที่คาดการณ์กันก็จะเป็นเรื่องที่ดี เพราะประชาชนจะได้รับผลกระทบน้อย