เชียงใหม่ - นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญโบราณคดี “ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สุรพล” อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย เปิดประเด็นร้อนกรณีกำแพงเมืองประตูช้างเผือก เชียงใหม่ ถล่มเสียหายหลังฝนตกหนัก ระบุ “พังได้ก็ดี” พร้อมสาปส่งให้อีก 3 ประตูประสบเหตุเช่นเดียวกัน ชี้ชัดเป็นแค่ของสร้างใหม่ไม่ใช่โบราณสถาน แนะควรสร้างรูปแบบเดิมตามหลักฐานภาพถ่าย
จากกรณีที่วานนี้ (25 ก.ย. 65) กำแพงเมืองเชียงใหม่ บริเวณประตูช้างเผือก ด้านนอกที่ก่อจากอิฐได้เกิดการทรุดตัวและพังทลายลงมาเป็นทางยาวประมาณ 10 กว่าเมตร โดยเบื้องต้นสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นผลจากฝนที่ตกหนักต่อเนื่องทำให้ดินที่เป็นแนวกำแพงอุ้มน้ำไว้ไม่ไหวและพังทลายลงมานั้น ซึ่งนายเทอดศักดิ์ เย็นจุระ ผู้อำนวยการ กลุ่มงานอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบพบว่ากำแพงที่พังลงมาดังกล่าวนี้เป็นกำแพงที่ก่อขึ้นใหม่ช่วง พ.ศ. 2500 ต้นๆ เพื่อคลุมแนวกำแพงเก่าโบราณไว้เท่านั้น ส่วนแนวกำแพงเก่าไม่ได้รับความเสียหายใดๆ ซึ่งเบื้องต้นจากนี้จะทำการติดตั้งอุปกรณ์ค้ำยันป้องกันความเสียหายเพิ่มเติม พร้อมสำรวจความเสียหายและดำเนินการซ่อมแซมอย่างเร่งด่วน รวมทั้งจะดำเนินการสำรวจตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของกำแพงเมืองเชียงใหม่ทั้งหมดด้วย
วันนี้ (26 ก.ย. 65) กรมศิลปากร และเทศบาลนครเชียงใหม่ ยังคงกันพื้นที่เพื่อให้เจ้าหน้าที่จัดการกับเศษซากวัสดุของกำแพงเมืองที่พังลงมา พร้อมทั้งรอให้เจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากรเข้าตรวจสอบความเสียหายอย่างละเอียดเพื่อวางแนวทางในการบูรณะซ่อมแซมต่อไป ขณะเดียวกัน ล่าสุดเกิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวของชาวเชียงใหม่ จากการที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ "สุรพล ดำริห์กุล" หรือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สุรพล ดำริห์กุล อดีตอาจารย์ สังกัดภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในผู้ที่เคยเคลื่อนไหวเรื่องของรูปแบบการบูรณะกำแพงเมืองโบราณว่าไม่เป็นไปตามรูปแบบกำแพงเมืองโบราณดั้งเดิม ได้โพสต์ข้อความว่า “ประตูช้างเผือกไม่ใช่โบราณสถาน แต่เป็นสิ่งก่อสร้างใหม่ที่เป็นทัศนอุจาดบนที่ดินโบราณสถาน (พังเสียได้ก็ดี)
สืบเนื่องจากฝนตกหนักเมื่อวานนี้ ทำให้ประตูช้างเผือก เมืองเชียงใหม่ พังทลายถล่มลงมาท่ามกลางความตกใจและเสียดายของชาวเชียงใหม่ แต่ผมว่าโชคดีนะ พังทลายลงเสียได้ก็ดี เพราะจะได้รู้กันเสียทีว่าประตูเมืองเหล่านี้เป็นสิ่งแปลกปลอม ก่อสร้างขึ้นใหม่โดยการออกแบบอย่างน่าเกลียดน่าชัง เพราะมันไม่ใช่ลักษณะและแบบแผนของประตูเมืองที่เป็นสากล (ต่างชาติมาเห็นก็ตลก คิดว่าเมืองเชียงใหม่กระจอก ถึงได้เป็นเมืองขึ้นพม่าตั้งนาน)
โดยข้อเท็จจริงประตูเมืองเชียงใหม่ที่เห็นในปัจจุบันล้วนเป็นสิ่งสร้างใหม่ทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะประตูเมืองของเมืองโบราณเชียงใหม่ถูกไถทำลายไปหมดแล้ว (มีรูปประตูเมืองเก่าเหลืออยู่ 2 รูป คือ ประตูท่าแพ กับประตูช้างเผือก) รวมทั้งอิฐกำแพงเมืองเก่าก็ถูกประมูลขายอิฐ เพื่อให้บ้านเมืองกว้างขวางทันสมัยตั้งแต่สมัยกระทรวงธรรมการ ต่อมาเทศบาลเมืองเชียงใหม่ (ในขณะนั้น) เมื่อราวแปดสิบปีที่ผ่านมา (สมัยนายทิม โชตนา เป็นนายกเทศมนตรี) ได้ออกแบบและสร้างประตูขึ้นใหม่ 5 ประตู (โดยไม่มีพื้นฐานของหลักฐานเก่าเลย) ทุกวันนี้คนเชียงใหม่ลืมหมดแล้ว คิดว่าประตูที่เห็น คือประตูช้างเผือก สวนดอก เชียงใหม่ และสวนปุง เป็นโบราณสถานเก่าแก่ของเมือง ยกเว้นประตูท่าแพในปัจจุบันนั้น นายชัยยา พูนศิริวงศ์ ผวจ.เชียงใหม่ ได้รื้อประตูที่เทศบาลฯ สร้างใหม่ออก และขออนุญาตกรมศิลปากรสร้างใหม่ตามรูปแบบภาพเก่าขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2529
ดังนั้น ขอชาวเชียงใหม่เข้าใจเสียให้ถูกต้องว่าประตูช้างเผือกที่พังทลาย ไม่ใช่โบราณสถานเก่าแก่ รวมทั้งสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ถ้าคิดจะบูรณะประตูช้างเผือกตามแบบเก่า ก็เสียงบประมาณแผ่นดินเปล่า เพราะไม่ใช่โบราณสถาน ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กทม.มีภาพเก่าของประตูช้างเผือกอยู่ คงเป็นโอกาสอันดีที่กรมศิลปากรจะได้ร่วมมือกับเทศบาลนครเชียงใหม่ทำสิ่งที่ถูกต้องให้กับเมืองเชียงใหม่อีกครั้ง เช่นเดียวกับประตูท่าแพที่ได้สร้างใหม่ตามภาพถ่ายเก่ามาแล้ว อีกสองสามวันพายุใหญ่จะเข้าเชียงใหม่ ฝนคงตกหนัก เพี้ยง!! ภาวนาว่าขอให้ประตูเมืองอุจาดสร้างใหม่ที่เหลืออยู่อีก 3 ประตู พังทลายลงให้หมดเสียได้ก็ดีครับ”
ทั้งนี้ โพสต์ดังกล่าวมีการแชร์ออกไปจำนวนมากและมีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ทั้งเรื่องของความรู้ว่ากำแพงที่พังถล่มลงมาไม่ได้เป็นของเก่าโบราณที่แท้จริง เป็นของที่สร้างขึ้นใหม่ และเรื่องรูปแบบที่ไม่เหมือนของดั้งเดิม ซึ่งหลายคนก็มองเรื่องของความสวยงาม และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ควรจะทำให้เกิดความสวยงาม ขณะที่หลายคนก็ไม่เห็นด้วยและต้องการจะให้เป็นแบบเก่าที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ขณะเดียวกันก็มีบางส่วนที่ไม่ค่อยพอใจนักในเรื่องของคำพูดที่บอกว่า “พังเสียได้ก็ดี” และข้อความที่ว่า “เพี้ยง!! ภาวนาว่าขอให้ประตูเมืองอุจาดสร้างใหม่ที่เหลืออยู่อีก 3 ประตูพังทลายลงให้หมด” เนื่องจากมองว่าถึงจะเก่าใหม่อย่างไรก็ไม่ควรที่จะสาปแช่งให้เกิดความเสียหาย
สำหรับศาสตราจารย์เกียรติคุณ สุรพล ดำริห์กุล สำเร็จการศึกษาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) สาขามานุษยวิทยาวัฒนธรรม จากมหาวิทยาลัยศิลปากร สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต สาขาสังคมวิทยา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในอดีตเคยรับราชการในตำแหน่งอาจารย์ สังกัดภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำหน้าที่ต่างๆ เช่น หัวหน้าภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ ที่ปรึกษาอาวุโสสำนักบริการวิชาการ (UNISERV) และประธานกรรมการบัณฑิตศึกษา สหสาขาวิชาการจัดการศิลปะและวัฒนธรรม บัณฑิตวิทยาลัย นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการวารสารวิจิตรศิลป์ จนเกษียณอายุราชการ เมื่อ พ.ศ. 2553
โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ สุรพล ดำริห์กุล เป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และมีความเชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและโบราณคดี มีผลงานวิจัย งานเรียบเรียงหนังสือ ตำรา และบทความวิชาการด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและโบราณคดีจำนวนมาก จนได้รับรางวัลต่างๆ อาทิ รางวัลผลงานวิจัยประเภทชมเชย สาขาปรัชญา เรื่อง งานศิลปกรรมลายคำประดับอาคารทางศาสนาล้านนา ขณะเดียวกันยังเขียนบทความอื่นๆ ในหนังสือพิมพ์และนิตยสาร รวมทั้งผลงานด้านการอนุรักษ์และการพัฒนาโบราณสถาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโบราณสถานสำคัญของเมืองเชียงใหม่หลายแห่ง เช่น การบุกเบิกขุดค้นและบูรณะ เวียงกุมกาม เวียงท่ากาน และการบูรณะป้อมกำแพงเมืองเชียงใหม่ รวมทั้งโครงการอนุรักษ์โบราณสถานในนามมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในโอกาสร่วมเฉลิมฉลอง 700 ปี เมืองเชียงใหม่