xs
xsm
sm
md
lg

โรงเรียน-วัดอยุธยายังจมบาดาล น้ำท่วมสูง 1-2 เมตร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พระนครศรีอยุธยา - สถานการณ์น้ำท่วมอยุธยา ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา น้ำท่วมสูง โรงเรียน วัดยังอ่วม ด้านคณะทำงานอำนวยการบริหารการจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง เผยเตรียมผันน้ำเข้าทุ่งผักไห่ 30 ก.ย.นี้

สถานการณ์น้ำเช้าวันนี้ (20 ก.ย.) ปริมาณน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ไหลผ่าน C13 ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 1,989 ลบ.ม./วินาที วานนี้ 1,989 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำไหลผ่านคงที่ ระดับน้ำที่ C35 บ้านป้อม พระนครศรีอยุธยา ระดับตลิ่ง 4.35 ม. ระดับน้ำ 4.51 ม. วานนี้ 4.49 ม. ระดับน้ำเพิ่มขึ้น ขณะที่เขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ระบาย 514 ลบ.ม./วินาที ลดลงจากวานนี้ที่ระบายอยู่ที่ 532 ลบ.ม./วินาที

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวเดินทางลงพื้นที่ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งติดกับแม่น้ำน้อย พบว่าขณะนี้น้ำท่วมในพื้นที่มานานเกือบ 2 เดือน บ้านเรือนประชาชน วัด และโรงเรียนยังคงถูกน้ำท่วมสูงในหลายจุด บางจุดท่วมสูง 1-2 เมตร ขณะเดียวกัน พบว่าประชาชนต้องนำรถยนต์ รถจักรยานยนต์มาจอดบนสะพาน ต้องใช้เรือสัญจรเป็นยานพาหนะเข้าออก

ขณะที่คณะทำงานอำนวยการบริหารการจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง โดยมี นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 2 พร้อมด้วยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่ สำนักงานชลประทานที่ 11 สำนักงานชลประทานที่ 12 สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการระบายน้ำเข้าสู่ทุ่งต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 2 เผยว่า การผันน้ำเข้าทุ่งในแต่ละทุ่งเราจะพิจารณาจากปริมาณน้ำที่ไหลสูงสุดของแม่น้ำเจ้าพระยาว่าจะเกิดขึ้นช่วงไหน ซึ่งเราจะคาดการณ์จากภูมิอากาศและสภาพฝน สภาพพายุ ต่างๆ ซึ่งวันนี้ได้มีการคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำที่จะสูงสุดน่าจะเกิดในช่วงไม่น่าจะเกิน 15 ต.ค. การผันน้ำเข้าทุ่งจึงควรที่จะเตรียมไว้รองรับในจุดนั้น ซึ่งเราคาดว่าในบางทุ่งเราจะรับเฉพาะทุ่งที่มีเงื่อนไข ได้คุยกับภาคประชาชนเรียบร้อยแล้ว เช่น ทุ่งผักไห่ ซึ่งจุดนี้ได้เก็บเกี่ยวเรียบร้อยแล้ว 100% จะเริ่มรับน้ำก่อนในวันที่ 30 ก.ย.โดยจะรับน้ำแค่ 30 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้เสียศักยภาพในการรับน้ำ ในกรณีที่จะมียอดน้ำมาในช่วงตุลาคม เพราะถ้าเรารับน้ำเข้ามาก่อนเต็มทุ่ง น้ำจะไปตุงอยู่ที่บางประม้า สุพรรณบุรี ซึ่งในตอนนี้แม่น้ำท่าจีนมีการท่วมในตอนท้ายของจังหวัดสุพรรณบุรีแล้ว เพราะว่ามีน้ำที่มาจากทุ่งโพธิ์พระยา

เพราะฉะนั้นในการบริหารจัดการน้ำในแต่ละทุ่งจะต้องสัมพันธ์กับปริมาณในพื้นที่ด้วย ซึ่งเราไม่สามารถที่จะตัดน้ำในทุ่งในปริมาณที่ต้องการ จะทำให้น้ำเหนือผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยามากกว่าความจุของลำน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งอาจจะทำให้กำแพงหรือตลิ่งที่ป้องกันไว้พังทลายได้ ซึ่งเป็นจุดที่จะต้องระบายน้ำเข้าทุ่งให้เหมาะสม และในกรณีทุ่งบางทุ่งยังไม่สามารถรับน้ำได้ โดยเฉพาะการเก็บเกี่ยวยังไม่เสร็จ หรือปริมาณน้ำฝนเราจะพิจารณาเป็นกรณีไป












กำลังโหลดความคิดเห็น