ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ม.ขอนแก่นเตรียมแผนพัฒนาปรับพื้นที่ครั้งใหญ่ จัดทำโซนนิ่ง ทั้ง KKU square จัดพื้นที่สร้างหอพักนักศึกษา-พื้นที่ที่พักอาศัยบุคลากรเพิ่ม ปัจจุบันมีไม่เพียงพอ พร้อมทุ่มงบสร้างแลนด์มาร์กใหม่ของมหาวิทยาลัย โดยปรับปรุงคอมเพล็กซ์ให้มีความทันสมัยและมีอัตลักษณ์ และสร้างพื้นที่จอดรถภายในมหาวิทยาลัยให้มากขึ้น
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องประชุมสายสุรี จุติกุล คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สภาพนักงานมหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการเสวนา Reinventing KKU Campus โดยมี ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานเปิดงาน พร้อมบรรยายพิเศษ โดยมี ผศ.ดร.สุรพล เนสุสินธุ์ ประธานสภาพนักงานมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวรายงาน มีผู้บริหารหน่วยงาน และบุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่น เข้ารับฟังการบรรยายกว่า 400 คน
โครงการเสวนา Reinventing KKU มีวัตถุประสงค์เพื่อรับทราบแนวนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่ดีในด้านการพัฒนาด้านกายภาพ ด้านสวัสดิการ และด้านที่อยู่อาศัย ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อบุคลากร ตลอดจนรับฟังแนวทางการปรับปรุงและพัฒนาด้านกายภาพ ด้านสวัสดิการ และด้านที่อยู่อาศัย
ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีเรื่องที่จะต้องทำเป็นจำนวนมาก การปรับปรุงครั้งนี้สืบเนื่องมาจากปัญหาของแคมปัสในอดีตที่มีหลายปัญหา เช่น ป่ารกทึบ แหล่งน้ำวัชพืชหนาแน่น แหล่งที่อยู่อาศัยของบุคลากรไม่น่าอยู่ อาคารสำนักงานบางหน่วยงานมีสภาพทรุดโทรม ขยะจำนวนมาก การจราจรหนาแน่น ที่จอดรถไม่เป็นระเบียบ ส่งผลต่อภูมิทัศน์โดยรอบ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้ปรับปรุงแก้ไขปัญหามาโดยตลอด
เช่น พื้นที่ป่ามีความเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม ปรับพื้นที่บึงสีฐานให้เป็นพื้นที่สันทนาการให้ประชาชนมาพักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย วิ่ง ปั่นจักรยาน รวมถึงการใช้พื้นที่บึงสีฐานจัดงาน Festival ตลอดจนรื้ออาคารสำนักงาน และบ้านพักอาศัยของบุคลากรที่มีสภาพทรุดโทรม เพื่อปรับพื้นที่ให้สวยงาม สามารถใช้ประโยชน์ได้ และจัดการพื้นที่เก็บขยะให้มีระเบียบเป็นสัดส่วน
ดร.ณรงค์ชัยกล่าวต่อว่า โจทย์ใหญ่ของการปรับปรุงพื้นที่มหาวิทยาลัยครั้งนี้คือการทำโซนนิ่ง เน้นจุด KKU สแควร์ จุดศูนย์กลางนักศึกษา พื้นที่การศึกษา เหล่านี้จะรวมกันเป็นแผน Reinventing KKU campus จะประกอบไปด้วย 1. ผังแม่บทมหาวิทยาลัยขอนแก่น 2. การจัดพื้นที่หอพักนักศึกษา 3. การจัดพื้นที่ที่พักบุคลากร 4. การสร้างแลนด์มาร์กของมหาวิทยาลัย 5. การปรับปรุงคอมเพล็กซ์ 6. การปรับพื้นที่อาคารสิริคุณากร 7. การสร้างพื้นที่ที่จอดรถของมหาวิทยาลัย
ด้าน รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า หลังรับตำแหน่งอธิการบดี เรื่องแรกที่ต้องทำคือ ผังแม่บทมหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ Master Plan มหาวิทยาลัยขอนแก่น ฉบับล่าสุดอายุเกิน 20 ปีแล้ว จึงต้องทำผังแม่บทใหม่ให้สอดคล้องกับนโยบายของสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น เรื่องที่สอง แนวคิดการสร้างหอพักนักศึกษาเพิ่มในมหาวิทยาลัย เนื่องจากมีนักศึกษาระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท และปริญญาเอก พักในหอพัก รวมเป็น 10,000 คน ยังคงมีนักศึกษาอีก 22,000 คนที่พักอยู่รอบๆ มหาวิทยาลัย ในสภาพแวดล้อมที่ดีบ้างไม่ดีบ้าง ราคาที่พักสูง
จึงกำหนดพื้นที่บริเวณด้านทิศเหนือของมหาวิทยาลัย ประมาณ 11 ไร่ สามารถสร้างหอพัก 8 ชั้นได้ประมาณ 5 หลัง รองรับนักศึกษาได้ประมาณ 2,000 คน อีกโซนอยู่หลังปั๊มน้ำมัน ประมาณ 13 ไร่ สามารถสร้างหอพักรองรับได้อีก 3,000 คน รวมสองโซนพักได้ประมาณ 5,000 คน ซึ่งจะไม่กระทบหอพักข้างนอก และจะสร้างพื้นที่ที่มีความร่มรื่นน่าอยู่ มี co-space ที่สามารถนั่งประชุม หรือทำงานร่วมกัน มีสนามกีฬาให้ได้ออกกำลังกาย และมีพื้นที่สันทนาการต่างๆ โดยจะเป็นห้องที่มีเครื่องปรับอากาศและห้องน้ำในตัว
เรื่องที่สาม คือที่พักสำหรับบุคลากรพื้นที่ South Campus Zone อยู่บริเวณตรงข้ามพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ แถบบึงสีฐาน สามารถสร้างอาคารหอพักบุคลากร 4 หลัง ในพื้นที่ 16.5 ไร่ จำนวนห้องพัก 960 ห้อง ทั้งห้อง Single และห้อง Family เพิ่มพื้นที่ส่วนกลาง จะมีสระว่ายน้ำ มีสนามกีฬา มีส่วนพักผ่อน เพื่อให้บุคลากรใช้ชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพ มี working space มีที่พักอยู่ใกล้ มีรถชัตเติลบัสวิ่งผ่านให้บริการ
เรื่องที่สี่ Landmark ของมหาวิทยาลัย KKU Square เป็นจุดศูนย์รวมพล ศิษย์เก่ากลับมาเยือน แล้วจะมีจุดถ่ายภาพ มีความผูกพัน สร้างความประทับใจ เป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีการออกแบบให้ทันสมัย สวยงาม เหมาะต่อการใช้งาน และยังมีพื้นที่ด้านสวนรุกขชาติที่สามารถปรับพื้นที่ให้นักศึกษาได้ใช้พื้นที่ทำกิจกรรมได้อย่างเต็มที่ ทำสะพานทางเดินลอยฟ้าเชื่อมกับอาคารศูนย์สารสนเทศ และอาคารสิริคุณากรที่เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม
“เรื่องสุดท้ายคือที่จอดรถของมหาวิทยาลัย สำหรับผู้ใช้บริการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ โรงพยาบาลทันตกรรม ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ รวมทั้งรถของบุคลากร ในแต่ละวันมีรถเข้ามาวันละหลายพันคัน ร่วมกับเอกชนเข้ามาก่อสร้างลานจอดรถ ทำให้เกิดพื้นที่เชิงพาณิชย์เพื่อเป็นการสร้างรายได้อีกด้วย” รศ.นพ.ชาญชัยกล่าว