ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - โคราชเปิดเวทีถกแนวเขตเวนคืนที่ดินโครงการก่อสร้าง “ไฮสปีดเทรน” ประชาชนผวาที่ดินถูกยึดจำนวนมาก ด้าน รฟท.ยันพื้นที่เวนคืนจริงกระทบ ปชช.น้อยมาก คาด 60 วันแนวเขตชัด ขณะผู้ว่าฯโคราชห่วงเข้าใจผิด ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจและการลงทุน แนะเร่งทำความเข้าใจนักธุรกิจ นักลงทุน
วันนี้ (14 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมสุวัจน์ ลิปตพัลลภ 2 ชั้น 3 อาคารยุพราชเบญจมงคล มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังการชี้แจงขั้นตอน หลักเกณฑ์ วิธีดำเนินการเวนคืนที่ดินตามพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดการเขตที่ดินที่จะเวนคืน เพื่อพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา)
หรือโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ไทย-จีน โดยมีผู้แทนจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และประชาชน เข้าร่วมรับฟังครั้งนี้กว่า 350 คน
โดยมี นายกำพล บุญชม รองวิศวกรใหญ่ โครงการพิเศษและก่อสร้างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พร้อมคณะทำงานและบริษัทที่ปรึกษาเข้าร่วมชี้แจงทำความเข้าใจกระบวนการ และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและซักถามข้อสงสัย
นายกำพล บุญชม รองวิศวกรใหญ่ โครงการพิเศษและก่อสร้างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวชี้แจงว่า ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดการเขตที่ดินที่จะเวนคืน เพื่อพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา นั้น ทางการรถไฟฯ ได้ประกาศเวนคืนที่ดินครอบคลุมเป็นบริเวณกว้างไว้ก่อน หรือประมาณ 400 เมตร จากบริเวณทางรถไฟ แต่ไม่ใช่เป็นพื้นที่เวนคืนทั้งหมด ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าจากแผนที่นั้นการประกาศ พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินฯ จะเป็นแนวเส้นสีน้ำเงินซึ่งเป็นพื้นที่สำรวจดูเหมือนกว้างมากและครอบพื้นที่ในเขตเมืองโคราชจำนวนมาก แต่แนวเขตที่ต้องเวนคืนจริงๆ คือ เส้นสีเขียว ซึ่งมีบ้านเรือนประชาชนเพียงไม่กี่หลังประมาณ 3-4 หลัง บริเวณด้านหลัง “ร้าน VT แหนมเนือง” ถ.มุขมนตรี เท่านั้น ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นที่ดินเปล่า
หากกระทบก็ถือว่าน้อยมากๆ และทางการรถไฟฯ ยืนยันว่าจะให้กระทบพี่น้องประชาชนน้อยที่สุดถ้าไม่จำเป็นเราก็ไม่อยากใช้งบประมาณให้มาก ประกอบกับคำนึงถึงวิถีชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มานานและมีความคุ้นเคย แต่หากจำเป็นต้องเวนคืนเราก็จะต้องพิจารณาการชดเชยให้อย่างคุ้มค่าที่สุดตามที่กฎหมายกำหนดให้
“แนวเขตเดิมที่แนบท้าย พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินเป็นเพียงแค่แนวสำรวจ สำหรับแนวเขตที่ต้องเวนคืนที่ดินจริงต้องคำนึงถึงแบบการก่อสร้าง ประชาชนที่ถูกเวนคืนให้รอรับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่เพื่อนัดหมายในการลงพื้นที่สำรวจ ขอให้ประชาชนให้ความร่วมมือและให้ข้อมูลที่แท้จริงครบถ้วนกับเจ้าหน้าที่ อย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพที่แอบอ้างเรียกรับเงินหลอกลวงจะสามารถเพิ่มราคาประเมินได้ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด” นายกำพล กล่าว
ทั้งนี้ สถานีรถไฟความเร็วสูงนครราชสีมา (โคราช) ตำแหน่งสร้างสถานีนั้นใช้พื้นที่สถานีเดิม และเขตพื้นที่ของการรถไฟฯ เดิม โดยสร้างเป็นสถานี 3 ชั้น ซึ่งสถานีนครราชสีมาจะมีลักษณะคล้ายกับสถานีบางซื่อรวมรถไฟทั้ง 2 ระบบ คือ รถไฟทางไกล และรถไฟความเร็วสูง โดยจะมี 3 ชั้น ประกอบด้วย ชั้นที่ 1 โถงพักรอคอย และทางเข้าอาคาร ชั้นที่ 2 ชั้นจำหน่ายตั๋ว และชานชาลารถไฟทางไกล ชั้นที่ 3 ชานชาลารถไฟความเร็วสูง สถานที่ตั้งสถานีใหม่ดังกล่าวนี้อยู่บริเวณย่านสถานีรถไฟนครราชสีมาในปัจจุบัน (ขยับไปทางชุมทางถนนจิระประมาณ 160 เมตร) และมีการเวนคืนที่ดินเพิ่มเติมเล็กน้อย
ทางด้าน นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงเรื่องเดียวกันว่า จากการชี้แจงของทางการรถไฟฯ ในครั้งนี้คาดประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจและลดความวิตกกังวลได้พอสมควร เนื่องจากไม่ได้ถูกเวนคืนที่ดินทั้งหมดตามที่เข้าใจมาตลอด ขอบเขต พ.ร.ฎ.กำหนด 2 เส้น คือ แนวสีน้ำเงินเป็นพื้นที่ต้องเข้าสำรวจ ส่วนสีเขียวคือพื้นที่ที่ถูกเวนคืน โดยภายใน 60 วันจะมีเจ้าหน้าที่ลงมาสำรวจพร้อมปักหมุดขาวแดงให้เห็นได้ชัดเจน จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการประเมินสภาพตามความเป็นจริง เพื่อจ่ายค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด
อย่างไรก็ตาม รฟท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรหาแนวทางเร่งทำความเข้าใจประชาชน โดยเฉพาะนักธุรกิจ นักลงทุนเพื่อมิให้เกิดความเข้าใจผิดและสามารถลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ การลงทุนได้