จันทบุรี - สวพ.6 จันทบุรี เผยเริ่มพบการปลอมแปลงใบรับรอง GAP เพื่อใช้ประกอบการส่งออกลำไยไปต่างประเทศของผู้ประกอบการล้งในพื้นที่ หลังใกล้ถึงฤดูผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก ลั่นดำเนินคดีตามกฎหมาย หวั่นทำตลาดรวมได้รับผลกระทบ
วันนี้ (13 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 หรือ สวพ.6 ว่าขณะนี้ จ.จันทบุรี เริ่มมีผลผลิตลำไยออกสู่ตลาด จึงทำให้เริ่มพบว่ามีผู้ประกอบการบางรายทำการปลอมแปลงใบรับรอง GAP เพื่อใช้ประกอบการส่งออกลำไยไปต่างประเทศแล้ว
โดยในเบื้องต้นสงสัยว่าน่าจะเป็นการกระทำของผู้ประกอบการในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ที่ได้ย้ายจุดรับซื้อและคัดแยกลำไยลงมาในพื้นที่ภาคตะวันออก แต่ยังคงใช้ใบรับรอง GAP เดิมซึ่งถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายเนื่องจาก จ.เชียงใหม่ อยู่ในเขต สวพ.1
และเมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา สวพ.6 ได้แจ้งความดำเนินคดีต่อผู้ปลอมแปลงใบรับรอง GAP ของล้งลำไยใน อ.ขลุง จ.จันทบุรี ซึ่งจากการสืบสวนพบว่า ผู้ที่กระทำการปลอมใบรับรอง GAP เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐใน อ.สอยดาว
“กรณีที่พบว่ามีผู้ทำใบรับรองปลอมแปลง GAP ลำไยปลอมนั้น ขณะนี้ สวพ.6 ได้ให้นิติกรรวบรวมหลักฐานเพื่อฟ้องร้องดำเนินคดีผู้กระทำผิดต่อทางราชการแล้วตามมาตรา 264 และมาตรา 265 และในส่วนเอกสารที่มีผู้นำลายเซ็นที่ไม่ได้รับการยินยอมของผมไปใช้จะแจ้งความดำเนินคดีตามมาตรา 264 ด้วยเช่นกัน”
นายชลธี ยังเผยอีกว่า ใบรับรอง GAP ถือเป็นเอกสารราชการที่ต้องมีตราสัญลักษณ์ของกรมวิชาการเกษตร และยังต้องมีการระบุพื้นที่รับผิดชอบที่ชัดเจน
ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี พบว่า จ.จันทบุรี มีพื้นที่ปลูกลำไยเป็นจำนวนมากและคาดว่าปริมาณผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดในปี 2565 นี้จะไม่น้อยกว่า 300,000 ตัน ขณะที่ช่วงเดือน ส.ค.จะเป็นช่วงที่ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาด และจะมีมากที่สุดในเดือน พ.ย.- ธ.ค.
และก่อนหน้านี้ นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี พร้อมด้วย นายระพีพัฒน์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประชุมร่วมผู้ประกอบการล้งลำใยใน จ.จันทบุรี เพื่อหารือถึงกติกาในการทำงาน และการรับซื้อลำไยที่กำลังจะออกสู่ตลาดจำนวนมาก พร้อมเน้นย้ำให้เกษตรกรชาวสวนลำไย ต้องผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ และให้ความสำคัญในการดูแลผลผลิตไม่ให้มีเพลี้ยแป้งราดำ หรือเชื้อโรคอื่นๆ ปะปนไปกับผลไม้
นอกจากนั้น จังหวัดจันทบุรีได้กำหนดมาตรการสำคัญให้ชาวสวนในพื้นที่ต้องมี GAP ส่วนผู้ประกอบการล้งจะต้องได้รับอนุญาตดำเนินการ รวมทั้งแรงงานจะต้องผ่านขั้นตอนการทำงานในประเทศที่ถูกต้องและต้องผ่านการตรวจหาเชื้อโควิด-19 อย่างต่อเนื่องอีกด้วย