ศูนย์ข่าวศรีราชา - เปิดมหากาพย์โครงการก่อสร้างสนามกีฬาแห่งชาติภาคตะวันออก งบ 774 ล้านบาท ดำเนินการ 14 ปีไม่มีความคืบหน้า “นายกเบียร์” ชี้เป็นปัญหาต้องเร่งแก้ ระบุ E-Bidding กระทบการจ้างเหมา เตรียมชงงบเพิ่มอีก 250 ล้านบาท มั่นใจสร้างเสร็จใน 2 ปี
โครงการก่อสร้างสนามกีฬาภาคตะวันออก เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2551 ภายใต้แนวคิดของคณะผู้บริหารเมืองพัทยาภายใต้การนำของ นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยาในสมัยนั้น ที่ต้องการพัฒนาพื้นที่ 371 ไร่ ใน ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ให้กลายเป็นศูนย์รวมการแข่งขันกีฬาทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับประเทศที่มีมาตรฐานสากล จึงได้ขออนุมัติจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐ จำนวน 774 ล้านบาท ตามแผนก่อสร้างตั้งแต่ปี 2551-2560
แต่ปัจจุบันผ่านมานานถึง 14 ปี โครงการนี้กลับกลายเป็นหนามยอกอกชาวพัทยา หลังไม่มีอะไรเกิดขึ้นให้เห็นเป็นรูปธรรม จนกลายเป็นอีกโครงการเมกะโปรเจกต์ใหญ่ที่หลายคนมองว่า เมืองพัทยาล้มเหลวในการบริหารจัดการอย่างสิ้นเชิง
เพราะไม่เพียงโครงการนี้จะถูกปล่อยทิ้งร้าง อุปกรณ์ภายในอาคาร รวมทั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ สุขภัณฑ์ ครุภัณฑ์ต่างๆ ยังถูกปล่อยให้ผุพังไปตามกาลเวลา อีกทั้งยังกลายเป็นที่อยู่อาศัยของคนเร่ร่อนไปโดยปริยาย
วันนี้ นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยาคนใหม่ ถึงกับต้องเอ่ยปากว่าโครงการนี้เป็นอีก 1 ปัญหาที่กลุ่มเรารักษ์พัทยา จะต้องเร่งแก้ไขให้สำเร็จ เพราะเป็นหนึ่งในนโยบายที่ใช้ในการหาเสียง
โดยโครงการก่อสร้างสนามกีฬาภาคตะวันออก เมืองพัทยา จ.ชลบุรี เดิมวางแผนการก่อสร้างไว้ 3 ระยะ คือ ระยะแรกระหว่างปี 2551-2553 ที่จะเป็นการก่อสร้างอัฒจันทร์ขนาด 5,000 ที่นั่ง มีแผนดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2554
ส่วนระยะที่ 2 เมืองพัทยาได้ทำข้อตกลงกับ กองทัพภาคที่ 1 ในการก่อสร้างอัฒจันทร์ในตำแหน่งที่นั่งประธาน แต่พบปัญหาด้านภูมิศาสตร์และปฐพีศาสตร์เนื่องจากบริเวณที่ตั้งโครงการคือช่วงเนินเขา ส่วนพื้นด้านล่างเป็นแผ่นหินขนาดใหญ่ทำให้การก่อสร้างต้องใช้เทคนิคพิเศษ เช่นเดียวกับลู่วิ่งที่ต้องได้มาตรฐาน และต้องใช้งบประมาณมากขึ้นถึง 536 ล้านบาท โดยมีแผนก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2557
แต่ในปี 2559 คสช. ได้แต่งตั้งคณะบุคคลเข้ามาเป็นสมาชิกสภาเมืองพัทยา และเข้าไปตรวจสอบการก่อสร้างช่วงต้นปี 2560 ซึ่งพบว่าการก่อสร้างที่นั่งฝั่งอัฒจันทร์ภายในสนามฟุตบอลตามมาตรฐานการกีฬาแห่งประเทศ ขนาด 20,000 ที่นั่ง ที่อยู่ในการดูแลของทหารช่าง มีความคืบหน้าในการก่อสร้าง ส่วนโครงหลังคามีความคืบหน้า 70%
ทำให้ในช่วงเดือนกันยายน 2560 สภาเมืองพัทยา ได้เปิดอภิปรายเรื่องการอนุมัติงบอุดหนุนให้โครงการดังกล่าวจำนวน 99 ล้านบาท แต่โครงการไม่มีความคืบหน้าและการจัดซื้ออุปกรณ์มีราคาสูงเกินจริงหลายรายการ
กระทั่งเมืองพัทยาต้องทำสัญญาจ้างเอกชนตามระบบ E-Bidding เข้ามาดำเนินการก่อสร้างในระยะที่ 3 ด้วยงบประมาณอีก 398 ล้านบาท หรือต่ำกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ถึง 445 ล้านบาทที่ได้เบิกจ่ายไปแล้ว 12 งวด รวมเป็นเงิน 143.2 ล้านบาท แต่สุดท้ายผู้รับเหมาได้ทิ้งงานไป
และเมืองพัทยา ต้องเสียเงินประกัน 19 ล้านบาท พร้อมค่าปรับอีก 80 ล้านบาท และเงินล่วงหน้าอีก 38 ล้านบาท ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายส่วนที่เหลืออีก 61 ล้านบาทในชั้นศาล
นายปรเมศวร์ เผยว่า เรื่องความล่าช้าในการการก่อสร้างสนามกีฬาแห่งชาติภาคตะวันออกนั้นตนเองไม่ได้นิ่งนอนใจ และที่ผ่านมาได้มีการเรียกประชุมหัวหน้าส่วนราชการเพื่อหาแนวทางเร่งรัดติดตามและผลักดันให้โครงการประสบผลสำเร็จ หลังคณะผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบความคืบหน้าโครงการ เมื่อปี 2562
เนื่องจากการกีฬาแห่งประเทศไทย มีนโยบายจะผลักดันให้ไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬายูธโอลิมปิกเกมส์ในปี 2569 และได้เสนอต่อคณะกรรมการโอลิมปิกสากลไปแล้ว
“ด้วยนโยบายของกลุ่มเรารักษ์พัทยา ที่ต้องการพัฒนาให้เมืองพัทยาเป็น Sport Tourism หรือศูนย์กลางของ EEC อย่างเต็มรูปแบบ จึงได้เตรียมเสนอขอจัดสรรงบประมาณจากสภาเมืองพัทยาอีกจำนวน 250 ล้านบาท เพื่อดำเนินการให้เสร็จภายใน 2 ปีนี้ให้ได้”
มอบหมายนิติกรดำเนินคดีผู้บุกรุก-ขโมยทรัพย์สินโครงการ
นายปรเมศวร์ ยังเผยถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโครงการในปัจจุบันว่า เมืองพัทยาได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริง รวมทั้งมอบหมายให้นิติกรเข้าแจ้งความดำเนินการผู้ที่บุกรุกและขโมยทรัพย์สินของทางราชการ รวมทั้งจะจัดกำลังเจ้าหน้าที่ไปเฝ้าตรวจวัสดุอุปกรณ์และสถานที่สำคัญเพื่อป้องกันปัญหาซ้ำซ้อน พร้อมยืนยันว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จตามที่สัญญาไว้กับประชาชน
และจากการตรวจสอบของคณะผู้บริหารเมืองพัทยาชุดปัจจุบัน พบว่า ยังมีอีกหลายโครงการที่ได้มีการตั้งงบประมาณไปแล้วแต่ขาดการบำรุงรักษา ดูแล หรือดำเนินการต่อเนื่อง เช่น โครงการอาคารปลากระเบน กังหันลมเกาะล้าน ท่าเทียบเรือ-ที่จอดรถพัทยาใต้ น้ำพุเต้นระบำท่าเรือพัทยาใต้
รวมทั้งโครงการก่อสร้างห้องน้ำสาธารณะท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย โครงการปรับภูมิทัศน์ชายหาดพัทยา ที่ยังไม่ทันได้เริ่มโครงการต้องหยุดชะงัก หลังถูกคัดค้านอย่างหนักจากประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งกลุ่มอนุรักษ์ เป็นต้น