เชียงแสน - เครือข่ายน้ำโขงไม่ท้อ..แม้ศาลปกครองสูงสุดยกฟ้องคดี กฟผ.ซื้อไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรีหมดเกือบ 100% ยันเดินหน้าเพิ่มเป้าหมายขับเคลื่อนสร้างสมดุลด้านกฎหมายต่อ ชี้ลุ่มน้ำโขงมุ่งแต่พัฒนาเศรษฐกิจการค้า ละเลยสิ่งแวดล้อม-ระบบนิเวศ
นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ตัวแทนเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง เปิดเผยว่ากรณีองค์กรเอกชนและภาคประชาชนในนามเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขง ยื่นฟ้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้ยกเลิกการซื้อกระแสไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี สปป.ลาว แม้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยชี้ขาดยกฟ้องไปแล้ว แต่ภาคประชาชนก็จะขับเคลื่อนต่อแน่นอน
สิ่งที่จะทำกันต่อไปได้คือจะต้องมีการศึกษาคำพิพากษา ข้อกฎหมาย และระเบียบต่างๆ ว่ามีข้อจำกัดอย่างไร รวมทั้งจะจัดเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลและเสวนากับนักวิชาการด้านกฎหมายรวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง
นายนิวัฒน์กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องมีการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เนื่องจากภาคประชาชนเห็นว่าการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง ที่ผ่านมามุ่งไปที่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจการเงินเป็นหลัก แต่ไม่ให้ความสำคัญต่อเรื่องสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศรวมไปถึงวิถีชีวิตของประชาชนริมฝั่ง ดังนั้นพวกเราจึงพยายามจะผลักดันให้เกิดความสมดุลในหลายๆ มิติ ซึ่งต่อไปก็จะมีการผลักดันด้านกฎหมายให้มีความสมดุลด้วยเช่นกัน
เพราะกฎระเบียบต่างๆ ที่ใช้ในแม่น้ำโขงยังมีข้อจำกัดโดยเฉพาะเมื่อยังมีความแตกต่างกันของแต่ละประเทศ ขณะที่การค้า การลงทุน การเงิน ได้พัฒนาไปจนข้ามพรมแดนกันไปแล้วแต่เรื่องกฎหมายยังล้าหลังอยู่ พวกเราจึงจะร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดกฎหมายที่เหมาะสมในการใช้กับแม่น้ำโขงต่อไป
อนึ่ง เมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมาศาลปกครองกลางได้อ่านผลคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด กรณีเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขง ฟ้องร้องให้ กฟผ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4 หน่วยงาน ได้ยกเลิกสัญญาการซื้อกระแสไฟฟ้าจากเขื่อนไซยบุรีและให้รับฟังความเห็นจากประชาชน ซึ่งศาลได้ยกฟ้อง
เนื้อหาส่วนหนึ่งผู้ฟ้องระบุว่าเขื่อนดังกล่าวมีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้า 1,285 เมกะวัตต์ ซึ่งหากผลิตกระแสไฟฟ้าจะทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงและหาก กฟผ.ไม่ทำสัญญาซื้อขายกระแสไฟฟ้าจากเขื่อนนี้ก็จะทำให้ผู้ร้องไม่ได้รับความเสียหาย
กรณีผู้ฟ้องระบุว่าจะได้รับความเสียหายนั้นเป็นผลมาจากการก่อสร้างเขื่อนที่อยู่นอกเขตอำนาจของราชอาณาจักรไทย ดังนั้นผลกระทบจึงไม่ได้เกิดจากสัญญาการซื้อขายกระแสไฟฟ้าดังกล่าวแต่อย่างใด แม้ว่า กฟผ.จะซื้อกระแสไฟฟ้าคิดเป็นร้อยละ 95 จากเขื่อนไซยะบุรีก็ตาม และการซื้อขายนี้ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อผู้ฟ้องจึงไม่เข้าเงื่อนไขตามข้อกฎหมายที่ฟ้อง