xs
xsm
sm
md
lg

ส่องกรณีศึกษา “ย่านสร้างสรรค์” กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจน่าน ยกระดับคุณภาพชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



น่าน - ส่องกรณีศึกษา..อพท.6 ปั้น “ย่านสร้างสรรค์น่าน” แนวทางบูรณาการองค์ความรู้ชุมชน ช่างฝีมือ ศิลปิน และนักออกแบบรุ่นใหม่ ต่อยอดสร้างมูลค่าวิถีพื้นถิ่นสองฝั่งน้ำน่านขึ้นชั้นระดับสากล ดันผลิตภัณฑ์ “น่านเน่อเจ้า” ฮิตติดตลาด-ผ้าทอ คว้ารางวัล PATA Gold Awards 2020 ปลุก 10 เมนูชุมชน หนุนท่องเที่ยว


นายธรรมนูญ ภาคธูป ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 5 ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 อพท. เปิดเผยว่า การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนา อย่าง “ย่านสร้างสรรค์” ก็คือการพัฒนาพื้นที่อย่างมีส่วนร่วมระหว่างทั้งสองฝ่ายเพื่อให้เกิดความหลากหลาย

เริ่มต้นจากการให้คุณค่ากับชุมชน และวิถีชีวิตดั้งเดิม ด้วยการเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องที่มีสิทธิ์มีเสียงในการตัดสินใจคัดเลือกแนวทางการพัฒนาร่วมกับกลุ่มคนสร้างสรรค์ และหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันพัฒนาย่าน สร้างแลนด์มาร์กให้น่ามอง ลองจัดย่านให้น่าอยู่ ปลุกย่านให้มีชีวิต ด้วยความคิดสร้างสรรค์

โดยไม่ลืมเตรียมความพร้อมคนในย่านดั้งเดิม และธุรกิจในย่าน ความต้องการของพื้นที่ย่าน จะช่วยให้ย่านสามารถสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของให้แก่ผู้คนในพื้นที่ และเป็นที่รู้จักของกลุ่มคนนอกพื้นที่

ซึ่งหากการพัฒนาเกิดความสุขของผู้อยู่อาศัย ความสุขของนักท่องเที่ยว ถ้าสองอย่างนี้ไปด้วยกันได้ มีความบาลานซ์กัน คือ การพัฒนาที่ยั่งยืน

อย่างจังหวัดน่านซึ่งมีลำน้ำน่านเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยง ก็มองว่าสองข้างลำน้ำน่านมีอะไรบ้างที่เกิดภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ซึ่งวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจะมีสองส่วน คือ วัฒนธรรมที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม อย่างอาคารเก่า บ้านเรือนเก่า กับอีกอันหนึ่งคือวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต ก็มีตั้งแต่เสื้อผ้า อาหาร ภาษาที่ใช้ ความเชื่อ ฯลฯ

หลายๆ อย่างเหล่านี้เป็นสมบัติที่มีค่าในอดีต กลับมารักษาสิ่งเหล่านี้ แล้วผู้คนที่เข้ามาน่านก็มาเรียนรู้น่านในสไตล์ที่ลึกซึ้ง ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้เมื่อนำมาสร้างเป็นย่านขึ้นมา เป็นการเล่าให้ผู้คนที่เข้ามาจังหวัดน่านฟัง และในขณะเดียวกันคนน่านก็ได้เรียนรู้การรักษาวัฒนธรรมในการดำรงชีพ และมรดกทางวัฒนธรรมเอาไว้ถ่ายทอดต่อสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน

“ที่ผ่านมาคนน่านต้องการทำให้น่านเป็นเมืองเก่าที่มีชีวิต ทาง อพท.ก็เพียงแต่เอาองค์ความรู้หลายๆ อย่างเข้ามา อย่างเช่นผ้าทอ ทำอย่างไรให้ผ้าทอมีต้นทุนที่ต่ำลง แต่ใช้วัสดุที่เป็นของโบราณ มีลายที่เป็นที่ต้องการของตลาด และก็มีการเล่าเรื่องราว มี Story Telling เข้าไป ก็เป็นการเพิ่มมูลค่า ทำให้มองเห็นว่าคุณค่าภูมิปัญญาเดิมจะต่อยอดได้อย่างไร จะไปพัฒนาได้อย่างไร”

และข้อสำคัญจากเดิมที่คนรุ่นใหม่ ทิ้งบ้าน ทิ้งถิ่นเข้าไปอยู่ในเมือง เข้าไปทำงานโรงงานอุตสาหกรรม แต่วันนี้ภาคเศรษฐกิจที่เคยพึ่งแต่อุตสาหกรรมอย่างเดียว เรามีอีกขาหนึ่ง ที่เป็นภาพของวัฒนธรรม ของภูมิปัญญา คนที่เป็นคนรุ่นใหม่จำนวนมากก็เริ่มกลับมาอยู่ที่บ้าน ในความสุขของผู้อยู่อาศัย ก็ต้องดูในเรื่องความเป็นครอบครัว เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องสุขภาพ อันนี้คือโจทย์ที่ อพท.6 เข้าไปพัฒนา


ส่องผ้าทอน่านเน่อเจ้า..ผ้าที่มีเรื่องเล่าและอัตลักษณ์

กรณีการพัฒนาสินค้า และบริการ ด้านการท่องเที่ยวภายใต้แบรนด์ ‘น่านเน้อเจ้า’ ไปแล้วถึง 12 ผลิตภัณฑ์ ในกลุ่มผ้าทอพื้นเมืองที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ด้วยผ้าทอพื้นเมืองน่าน มี "ลาย" เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีเรื่องเล่า มีคุณค่า ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก และยอมรับในคุณภาพของผ้าทอ และคว้ารางวัล PATA Gold Awards 2020 ประเภทรางวัล Women Empowerment Initiative จากสมาคมการท่องเที่ยวแห่งเอเชียแปซิฟิก

ในปีนี้ อพท.ยังคงสนับสนุนและพัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวภายใต้แบรนด์ ‘น่านเน้อเจ้า’ ให้มีหลากหลายมากยิ่งขึ้น และสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ด้วยสินค้ามาตรฐานที่ยังคงความเป็นอัตลักษณ์ของน่าน รวมทั้งตอบโจทย์ในเรื่องรายได้ชุมชนที่ต้องเพิ่มขึ้น


10 เมนู อาหารอร่อย ท้องถิ่นน่าน กระตุ้นการท่องเที่ยว

ขณะที่การท่องเที่ยวเชิงอาหาร หรือ “Gastronomy Tourism” กำลังเป็นการท่องเที่ยวทางเลือกที่อยู่ในกระแส และถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญในการนำเสนออัตลักษณ์ วัฒนธรรมท้องถิ่น และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของจังหวัดน่าน ด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม เนื่องจากเป็นการท่องเที่ยวที่ผสมผสานธรรมชาติ วัฒนธรรม การบริการ การเข้าถึงทรัพยากรท่องเที่ยว และสามารถถ่ายทอดเสน่ห์อัตลักษณ์ของตัวเอง มารวมเป็นประสบการณ์ให้แก่นักท่องเที่ยว

ขณะนี้ อพท.ได้สนับสนุนดึงศักยภาพอาหารท้องถิ่นเมืองน่าน 10 เมนู จาก 4 ชุมชนพื้นที่พิเศษ ได้แก่ ชุมชนตำบลในเวียง ชุมชนดอนมูล ชุมชนบ่อสวก และชุมชนนาซาว พัฒนาการจัดจานเสิร์ฟและการเล่าเรื่องราวของวัตถุดิบ ขั้นตอนการปรุง และความเป็นมาของอาหารพื้นถิ่นให้น่าสนใจเพื่อนำเสนอเป็นความรู้ที่สนุกสนานให้แก่นักท่องเที่ยว สร้างการจดจำอาหารเมืองน่าน


“น่าน”..พื้นที่สร้างสรรค์ เครื่องมืออนุรักษ์วัฒนธรรม ภูมิปัญญา

นายธรรมนูญย้ำว่า การท่องเที่ยว เป็นอีกเครื่องมือในการอนุรักษ์วัฒนธรรม ภูมิปัญญา กรณีเมืองน่าน ได้สะท้อนให้เห็นผ่านกิจกรรมพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Space) ซึ่งเป็นการนำสิ่งที่มีอยู่มาต่อยอดในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดรายได้ไปพร้อมกับการบูรณาการองค์ความรู้ชุมชน ช่างฝีมือ ศิลปิน และนักออกแบบรุ่นใหม่ ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบเป็นเครื่องมือสำคัญ สร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่ยังคงอนุรักษ์ รักษาความเป็นดั้งเดิมเอาไว้ ก่อให้เกิดคุณค่า และมูลค่า

กิจกรรมในพื้นที่สร้างสรรค์ Creative Space นั้นจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะพัฒนาจังหวัดน่าน เพื่อให้เข้าไปสู่มาตรฐานในระดับสากล ในเรื่องของการเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ซึ่งจะทำให้คนทั่วโลกได้รู้จักจังหวัดน่านได้ดียิ่งขึ้น และอยากเข้ามาเยี่ยมเยียน มาเรียนรู้วิถีชีวิตของน่านอย่างลึกซึ้ง ทำให้การมาใช้ชีวิตอยู่ในจังหวัดน่านเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้างรายได้เพิ่มในจังหวัดน่าน
กำลังโหลดความคิดเห็น