บุรีรัมย์ - ชลประทานบุรีรัมย์ยังระดมเครื่องจักรเร่งเสริมความแข็งแรงทำนบดินชั่วคราว ล้อมรอบอาคารระบายอ่างฯ ลำตะโคงที่ถูกน้ำกัดเซาะพังเสียหายเพื่อกักเก็บน้ำใหม่ไว้ใช้ช่วงหน้าแล้ง ล่าสุดเหลือน้ำเพียง 2.8 ล้าน ลบ.ม. จากกว่า 10 ล้าน ลบ.ม. จมนาข้าว 1,100 ไร่ พร้อมเร่งติดตั้งสะพานเบลีย์สันอ่างที่ขาดให้ ปชช.สัญจรได้ตามปกติ
วันนี้ (29 ส.ค.) ความคืบหน้ากรณีเกิดเหตุน้ำกัดเซาะอาคารระบายน้ำล้นอ่างเก็บน้ำลำตะโคง อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ พังเสียหาย ทั้งยังเซาะบริเวณสันอ่างฯ ขาดยาวกว่า 10 เมตร กว้าง 6 เมตร เมื่อวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา ทำให้น้ำในอ่างที่มีมากกว่า 10 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ซึ่งเกินระดับกักเก็บได้ไหลทะลักออกตรงบริเวณที่อาคารระบายน้ำชำรุดอย่างรวดเร็วและเชี่ยวแรงจนไม่สามารถควบคุมได้ ต้องมีการประกาศแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ใต้อ่างฯ และใกล้ทางน้ำไหลผ่าน ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงจะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน 4 หมู่บ้าน เตรียมอพยพเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
กระทั่งทางโครงการชลประทานจังหวัดบุรีรัมย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องๆด้ทำการสร้างทำนบดินชั่วคราว โอบล้อมปิดบริเวณอาคารระบายน้ำอ่างลำตะโคงที่ชำรุดเสียหาย และบริเวณสันอ่างฯ ที่ถูกน้ำกัดเซาะตัดขาดเพื่อไม่ให้น้ำทะลักออกได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ตามที่เสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องนั้น
ล่าสุดทางชลประทานจังหวัดบุรีรัมย์ยังคงระดมเครื่องจักรและกำลังคนเข้าดำเนินการเสริมความแข็งแรงของทำนบดินชั่วคราวดังกล่าว เพื่อให้สามารถรองรับน้ำและกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง เพราะหลังจากอาคารระบายน้ำฝั่งขวาชำรุด น้ำในอ่างที่มีมากกว่า 10 ล้านลูกบาศก์เมตรได้ไหลทะลักออกจากอ่างเกือบหมด ปัจจุบันเหลือน้ำเพียง 2.8 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปริมาณความจุอ่าง 7.5 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ทางชลประทานฯ มั่นใจว่าก่อนจะสิ้นสุดฤดูฝนจะมีน้ำไหลเข้าอ่างเต็มความจุเหมือนเดิมอย่างแน่นอน
พร้อมกันนี้ยังจะได้เร่งติดตั้งสะพานเบลีย์บริเวณสันอ่างที่ถูกน้ำเซาะขาดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้ชาวบ้านสามารถสัญจรไปมาได้ตามปกติ
ส่วนพื้นที่การเกษตรซึ่งส่วนใหญ่เป็นนาข้าวที่อยู่บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำใต้อ่าง ที่น้ำทะลักเข้าท่วมประมาณ 1,100 ไร่นั้น จะทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อสูบน้ำที่ท่วมขังออกให้ไหลลงคลองธรรมชาติอย่างเร่งด่วนด้วย เพื่อลดผลกระทบให้แก่เกษตรกร