พิษณุโลก - เปิดเส้นทางกว่า 10 ปี กว่า FCI จะรับขึ้นทะเบียน “หมาบางแก้ว” เป็นสุนัขโลก ขณะที่ ส.ส.หลายสมัย “นิยม ช่างพินิจ” กลุ่มผู้เลี้ยงและพัฒนาสุนัขไทยฯ สุดปลื้มปริ่ม รับข่าว “บางแก้วบางระกำ แท้” ได้รับการการันตี
นายนิยม ช่างพินิจ ส.ส.พิษณุโลกหลายสมัย และกลุ่มผู้เลี้ยง-พัฒนาสุนัขไทยพันธุ์บางแก้ว ได้ร่วมกันแถลงข่าวที่วัดบางแก้ว ตำบลท่านางงาม อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก เมื่อ 28 ส.ค. 65 แสดงความยินดีกับชาวจังหวัดพิษณุโลกและคนไทยทั้งประเทศ หลังสุนัขไทยพันธุ์บางแก้ว ซึ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่บางแก้ว อำเภอบางระกำ ได้จดทะเบียนเป็นสุนัขโลกจากคณะกรรมการ FCI เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปน
ส.ส.นิยมกล่าวว่า ภูมิใจมากที่สุนัขบางแก้ว จากสุนัขธรรมดาๆ แต่วันนี้ไม่ธรรมดาอีกต่อไป เพราะทั่วโลกยอมรับในสายพันธุ์สุนัขบางแก้ว ส่วนตัวเคยเลี้ยงสุนัขบางแก้ว ต้องบอกว่า อย่าขังสุนัข จริงๆ แล้วสุนัขบางแก้วคือสายพันธุ์สุนัขป่า-สุนัขจิ้งจอก มีความดุอยู่ในสายเลือด แม้จะมีความรักเจ้าของ แต่คนอื่นอาจถูกกัดได้ เพราะหวงเจ้าของ ถ้าไม่รู้นิสัยใจคอสุนัขดีพอ ยอมรับว่าเลี้ยงยาก แต่นั่นคืออดีตเมื่อ 20 ปีก่อน แต่ปัจจุบันสุนัขบางแก้วจะได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ กระทั่งเป็นสุนัขที่ไม่ดุมากนัก ซึ่งต้องขอบคุณนักวิชาการที่ต่อยอด ศึกษาพัฒนาสายพันธุ์ต่อไปอีก
“ชาวบ้านควรภูมิใจในตัวสุนัขบางแก้ว ที่วันนี้จะถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจใหม่แล้ว โดยเฉพาะสุนัขบางแก้วซึ่งมีถิ่นกำเนิด ท่านางงาม อ.บางระกำ แท้ๆ อนาคตจะสร้างเศรษฐกิจแก่คนพิษณุโลกไม่น้อยเลย” ส.ส.นิยมเผย
นายชวลิต มีแม่นวิทย์ กลุ่มผู้เลี้ยงและพัฒนาสุนัขไทยพันธุ์บางแก้ว กล่าวว่า เพื่อเป็นการแสดงความยินดีที่สุนัขไทยพันธุ์บางแก้วมีถิ่นกำเนิดในอำเภอบางระกำ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสุนัขโลกจากสมาพันธ์สุนัขโลก FCI ทางกลุ่มผู้เลี้ยงและพัฒนาสุนัขไทยพันธุ์บางแก้วจะมุ่งเน้นรักความสามัคคี พยายามกระตุ้นค่านิยมในการเลี้ยงสุนัขไทยพันธุ์บางแก้วต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมอีกว่า “สุนัขบางแก้ว” มีชื่อเสียงขึ้นมา สืบเนื่องจากอดีตหัวหน้าปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลก คือ หมอนิสิต ตั้งตระการพงษ์ ได้ผลักดันเป็นรายแรกๆ ตั้งแต่ก่อนปี 2550 มีการจัดประกวดในงานกาชาด มีการสร้างมาตรฐานมาร์กกิ้งสุนัขบางแก้วโดยเฉพาะ จนทำเป็นหนังสือ ทำให้สุนัขไทยบางแก้วเป็นที่รู้จักแพร่หลาย จากนั้นก็มีคนเพาะเลี้ยงขายสุนัขบางแก้วกันกว่า 20 ฟาร์ม ซึ่งแต่ละปีมีสุนัขที่มีคุณภาพออกสู่ตลาดถึง 2,000 ตัว หากรวมฟาร์มทั้งจังหวัดพิษณุโลกพบว่ามีสุนัขบางแก้วออกสู่ตลาดมากถึง 5,000 ตัวต่อปี สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ
หลังจากนั้นก็มีก่อตั้งหลายชมรม หลายสมาคม เพื่อพัฒนาสายพันธุ์สุนัขไทยบางแก้ว อาทิ นายพิชัย คำสุวรรณ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุนัขไทยพันธุ์บางแก้ว พิษณุโลก The Association Of Phitsanuloke Bangkaew Breeder Dog (APB) ถือเป็นหนึ่งที่ร่วมผลักดันในนามสมาคมฯ เพราะต้องการพัฒนาสายพันธุ์สุนัขบางแก้วให้ขึ้นทะเบียนสุนัขโลก โดยคัดเลือกสายพันธุ์พ่อแม่ให้นิ่ง ไม่ดุ ลดความก้าวร้าว เพื่อพัฒนาสู่ระดับสากล
หลังจากนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุนัขไทยพันธุ์บางแก้วจังหวัดพิษณุโลกขอขึ้นทะเบียนสุนัขโลก นายสมศักดิ์ เตชปีติ รองนายกสมาคมพัฒนาพันธุ์สุนัข (ประเทศไทย) ได้รับมอบหมายจากนายกสมาคมฯ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมคอกสุนัขบางแก้วจังหวัดพิษณุโลก เมื่อ 14 พ.ค. 2550 กระทั่งได้รับการรับรองจากสมาพันธ์สุนัขเอเชีย Asian Kennel Union (AKU) แล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการทำเรื่องและส่งรายละเอียดสายพันธุ์เข้าสู่ Federation Cynologique International (FCI) จากที่มีสุนัขรับรองมาตรฐานแล้ว 331 สายพันธุ์
ต่อมา 6 ม.ค. 2560 นายสามารถ สิงห์โตทอง นายกสมาคมสุนัขไทยพันธุ์บางแก้วแห่งประเทศไทย นำลูกสุนัขไทยพันธุ์บางแก้ว สีขาว-น้ำตาล มามอบให้นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เนื่องในวันปีใหม่ ซึ่งผู้ว่าฯ ก็บอกว่า เมืองพิษณุโลกมีสุนัข (สมาคมสุนัขโลก (FCI) ได้รับรองสุนัขบางแก้วเป็นการชั่วคราวแล้ว), ไก่, กล้วย และพระเครื่อง หากโปรโมตให้ดีแค่นี้ก็ดังแล้ว
กระทั่งปัจจุบันนี้ สุนัขไทยบางแก้วได้ขึ้นทะเบียนสุนัขโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อยู่ในกรุ๊ป 5 จาก 10 กรุ๊ป ซึ่งกรุ๊ป 5 นั้นได้แบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อยตามลักษณะของสุนัขและแหล่งกำเนิดของสุนัข คือ Spitz และ Primitive type Spitz Type คือ สุนัขที่มีขนยาว หนา และมักเป็นสีขาว หูตั้ง ปลายหูแหลม หางมักจะโค้งอยู่เหนือหลัง รูปหน้าสุนัขจิ้งจอกหรือคล้ายกับหมาป่า Primitive type คือสุนัขสายพันธุ์ดั้งเดิมหรือสุนัขโบราณ สำหรับสุนัขที่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศไทย ปัจจุบันได้รับการรับรองสายพันธุ์ 2 สายพันธุ์คือไทยหลังอานอยู่ในกรุ๊ป 5 ประเภท Primitive type ส่วนไทยบางแก้วอยู่ในกรุ๊ป 5 ประเภท Spitz ซึ่งถูกรับรองล่าสุด