บุรีรัมย์ - คืบหน้าสร้างทำนบดินชั่วคราวปิดล้อมอาคารระบายน้ำล้นและสันอ่างฯ ลำตะโคงถูกน้ำกัดเซาะตัดขาดจนมวลน้ำจำนวนมากทะลักออกได้สำเร็จแล้ว หลังชลประทาน จ.บุรีรัมย์ ร่วมหลายหน่วยงานระดมทั้งเครื่องจักรและกำลังคนเร่งทำทั้งวันทั้งคืน ก่อนวางแผนสร้างอาคารระบายถาวรให้มั่นคงแข็งแรง ขณะ ปภ.เร่งสำรวจผลกระทบและความเสียหายรายงานจังหวัดฯ เพื่อช่วยเหลือ
วันนี้ (28 ส.ค.) ความคืบหน้ากรณีที่เกิดเหตุน้ำกัดเซาะอาคารระบายน้ำล้นอ่างเก็บน้ำลำตะโคง อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ พังเสียหาย ทั้งยังเซาะบริเวณสันอ่างขาดยาวกว่า 10 เมตร กว้าง 6 เมตร ทำให้น้ำในอ่างที่มีมากกว่า 10 ล้านลูกบาศก์เมตรซึ่งเกินระดับกักเก็บ ได้ไหลทะลักออกตรงบริเวณที่สันอ่างขาดอย่างรวดเร็วและเชี่ยวแรงจนไม่สามารถควบคุมได้ จนต้องมีการประกาศแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ใต้อ่างและใกล้ทางน้ำไหลผ่าน ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงจะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน 4 หมู่บ้าน เตรียมอพยพทั้งคนและทรัพย์สินเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น
ล่าสุดผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ทางโครงการชลประทานจังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดบุรีรัมย์ อบต.หัวฝาย ทหาร และอีกหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้ระดมทั้งเครื่องจักร และกำลังคนกว่า 100 ชีวิต เร่งทำงานทั้งวางกล่องเกเบียนหรือกล่องลวดตาข่ายบรรจุหินกว่า 1,000 ลูก วางถุงบิ๊กแบ็กบรรจุหินและทรายอีก 1,000 ถุง รวมถึงก้อนหินขนาดใหญ่และดินล้อมบริเวณที่ถูกน้ำเซาะขาดตลอดทั้งวันทั้งคืนที่ผ่านมา จนสามารถสร้างทำนบดินชั่วคราว (cover dam) ปิดล้อมตัวอาคารระบายน้ำที่ชำรุด และสันอ่างฯ ที่ขาดได้สำเร็จสามารถปิดทางน้ำที่จะทะลักออกไปสร้างความเดือดร้อนเสียหายให้แก่ประชาชนและพื้นที่การเกษตรได้แล้ว
แต่ยังมีการพร่องน้ำออกที่บริเวณประตูระบายน้ำเพื่อรองรับน้ำใหม่ที่จะเข้ามาเติมในอ่างเก็บน้ำหลังจากนี้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงปลายฤดูจะสามารถกักเก็บน้ำไว้ได้เต็มความจุ เพื่อให้ประชาชนและเกษตรกรมีน้ำไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปีแน่นอน
ขณะที่ นายสัญญ์ธวัชช์ ริ้วเหลือง ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า หลังเกิดเหตุน้ำกัดเซาะอาคารระบาย และสันอ่างฯ เสียหายจนน้ำในอ่างทะลักออก ทางผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ได้สั่งการให้ลงพื้นที่สำรวจดูพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน แต่จากการลงพื้นที่สำรวจยังไม่พบอาคารบ้านเรือนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมวลน้ำที่ไหลทะลักออกจากอ่างเก็บน้ำลำตะโคงแต่อย่างใด มีเพียงคอกสัตว์และพื้นที่การเกษตรที่ถูกน้ำท่วมเท่านั้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างประสานทางกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ตรวจสอบความเสียหาย เพื่อรวบรวมรายงานทางอำเภอและจังหวัดอีกครั้ง เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามระเบียบขั้นตอนต่อไป