xs
xsm
sm
md
lg

คณะแพทย์ มช.เปิดตัวโครงการ Telemedicine ร่วม รพ.เทพรัตนเวชชานุกูลฯ แม่แจ่ม ดูแลให้คำปรึกษาผู้ป่วยพื้นที่ห่างไกล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงใหม่ - คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดตัวโครงการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) กับโรงพยาบาลเทพรัตนเวชชานุกูล เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นำระบบเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ช่วยในการดูแลรักษาต่อเนื่องให้คำปรึกษาผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล โดยไม่ต้องเดินทางมาพบแพทย์เฉพาะทางถึงที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่


คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แถลงข่าวโครงการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) กับโรงพยาบาลเทพรัตนเวชชานุกูล เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ โดยการสนับสนุน จากบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) โดยมี ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย นายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช., นายแพทย์ จักร์ชัย ติตตะบุตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเทพรัตนเวชชานุกูลเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา, นายเควิน เฉิง ประธานกลุ่มธุรกิจเอนเตอร์ไพรส์ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด, นายอาทยา หยู่เย็น หัวหน้างานปฏิบัติการ ภูมิภาค-ภาคเหนือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน), นายแพทย์ ธนกฤต จินตวร รองผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ และ ผศ.พญ.ฉัตรอรุณ ริมสุขเจริญชัย อาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. ร่วมกันแถลงข่าว เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 65 ที่ห้องประชุมชั้น 15 อาคารเฉลิมพระบารมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สำหรับโครงการ Telemedicine หรือการแพทย์ทางไกล ดังกล่าวนี้เป็นความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับโรงพยาบาลเทพรัตนเวชชานุกูล เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ตั้งในพื้นที่ห่างไกล ในการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องโดยแพทย์เฉพาะทางผู้เชี่ยวชาญที่ประจำอยู่ที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่กับแพทย์โรงพยาบาลเทพรัตนเวชชานุกูล เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา ผ่านระบบดังกล่าวนี้ โดยในการนี้ได้มีการสาธิตการทำ Telemedicine ระหว่าง 2 โรงพยาบาล ในการติดตามผู้ป่วยเส้นเลือดหัวใจตีบ ซึ่งได้รับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่มาแล้ว และขณะนี้รับการรักษาต่อเนื่องที่โรงพยาบาล เทพรัตนเวชชานุกูล อำเภอแม่แจ่ม ซึ่ง Telemedicine ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางมา ที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โดยทางคณะแพทย์ทั้ง 2 โรงพยาบาล สามารถทำการแลกเปลี่ยนข้อมูล วินิจฉัย และติดตามการรักษาได้อย่างรวดเร็ว มีความสะดวก ทั้งผู้ป่วย และ ทีมแพทย์ โดยผู้ป่วย และญาติมีความพึงพอใจ เนื่องจากสะดวกที่ไม่ต้องเดินทาง จากอำเภอแม่แจ่มเข้ามาในตัวเมืองเชียงใหม่ และการติดตามรักษามีประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน








กำลังโหลดความคิดเห็น