เชียงราย - สภาพตลาดชายแดนแม่สายหลังโดนน้ำท่วมหนักสุดรอบ 100 ปี จนเสียหายยับเยิบกว่าที่คิด คราบโคลนเต็มพื้นที่ “ส.ส.เต้-มงคลกิตติ์” ออกโรงเรียกร้องรัฐทำพนัง-เวนคืนที่ กันคนพ้นริมฝั่ง แก้ทั้งน้ำท่วมซ้ำซาก-หนีเข้าเมือง
วันนี้ (16 ส.ค. 65) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเชียงรายได้จัดให้มีกิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญประโยชน์ ร่วมกันทำความสะอาด (Big Cleaning Day) บริเวณหน้าด่านพรมแดนและชุมชนต่างๆ ในพื้นที่ชายแดนแม่สาย หลังน้ำจากลำน้ำสายทะลักเข้าท่วมหนักระหว่าง 13-14 ส.ค.ที่ผ่านมา
โดยได้ระดมกำลังทุกฝ่ายทั้งเทศบาล ต.แม่สาย ทหาร ฉก.ม.3 กองกำลังผาเมือง มณฑลทหารบกที่ 37 หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ที่ 35 กก.ตชด.32 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากพื้นที่ต่างๆ จิตอาสาจากหน่วยงานองค์กรต่างๆ ประมาณ 1,000 คน พร้อมรถแทรกเตอร์ รถพ่นน้ำ รถเก็บขยะ ฯลฯ เข้าขุดตักดินโคลนปนทรายที่ติดค้างตามถนน ร้านค้า บ้านเรือน และฉีดพ่นน้ำเพื่อทำความสะอาดเมืองตลอดทั้งวัน
โอกาสนี้ กิ่งกาชาด อ.แม่สาย ได้ตั้งจุดรับบริจาคอาหารและน้ำดื่มสนับสนุน ขณะที่มณฑลทหารบกที่ 37 จัดตั้งโรงครัวเพื่อปรุงอาหารให้แก่ผู้ร่วมกิจกรรม
อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการล้างเมืองแม่สายครั้งนี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากมีดินและทรายจำนวนมากที่ทะลักเข้าติดค้างภายในบ้านเรือนและร้านค้าต่างๆ รวมทั้งถนนตลอดสายตั้งแต่ภายในตลาด ใต้สะพานข้ามลำน้ำสาย ชุมชนไม้ลุงขน ชุมชนเกาะทราย ฯลฯ โดยดินโคลนมีความหนาเกินกว่าจะฉีดพ่นน้ำเพื่อทำความสะอาดได้จึงต้องใช้การขุดตักและขนดินออกก่อนฉีดพ่นน้ำทำความสะอาดได้ นอกจากนี้ยังคงมีสิ่งของและเศษวัสดุต่างๆ ติดค้างอยู่เป็นจำนวนมาก
ด้านมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ซึ่งได้เดินทางลงพื้นที่บริเวณสะพานข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 2 พร้อมหารือกับนายวรรณศิลป์ จีระกาศ ปลัดเทศบาล ต.แม่สาย ก็ได้รับแจ้งว่าเหตุน้ำท่วมบริเวณชายแดน อ.แม่สาย เกิดขึ้นทุกปี เนื่องจากลำน้ำสายแคบและไหลมาจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยไม่สามารถขุดลอกหรือทำพนังกั้นน้ำได้เพราะเป็นเรื่องระหว่างประเทศที่ยังไม่ได้ข้อยุติระหว่างกัน
แต่น้ำท่วมครั้งล่าสุดนี้ นายวรรณศิลป์ระบุว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปีเลยทีเดียว เพราะน้ำมีปริมาณมากและเชี่ยวกรากกว่าทุกครั้ง แม้จะมีการแจ้งเตือนทำให้ผู้คนเก็บข้าวของได้ทัน แต่น้ำท่วมสูงกว่าที่คาดการณ์ ทำให้กระแสน้ำทะลักท่วมอย่างน้อย 200 หลังคาเรือน จึงเสนอให้มีการนำปัญหาเข้าสู่คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องให้มีการทำพนังกั้นน้ำ เนื่องจากทางฝั่งซ้ายของสะพานมีระยะทางที่จำเป็นต้องมีพนังยาวประมาณ 660 เมตร ฝั่งขวาประมาณ 1,680 เมตร ปัจจุบันหากน้ำสายล้นฝั่งสามารถทะลักเข้ามาได้ตลอดแนว
นายมงคลกิตติ์กล่าวว่า ตนทราบว่าน้ำท่วมที่ อ.แม่สาย เป็นน้ำจากฝั่งประเทศเพื่อนบ้านที่ไหลมาเร็วสร้างความเสียหายหนักทั้งสองฝั่งประเทศ เพราะมีการรุกล้ำลำน้ำสายตลอดทั้งสองฝั่ง ส่งผลให้ลำน้ำตื้นเขิน ดังนั้นการจะแก้ไขปัญหาหากมองเฉพาะในฝั่งไทยคือต้องคืนพื้นที่ริมน้ำให้กับธรรมชาติ ไม่ยกเว้นว่าผู้ใดจะเป็นผู้ครอบครอง ซึ่งหากไม่แก้ไขก็จะทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมทุกปี สุดท้ายชาวบ้าน 4-5 ชุมชนริมฝั่งหลายร้อยครัวเรือนก็ต้องเดือดร้อนไปเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม ทราบว่าผู้อาศัยอยู่ริมฝั่งลำน้ำระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ส่วนใหญ่ไม่มีทะเบียนบ้านและมีการรุกล้ำลำน้ำ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจึงทำได้ 2 วิธี คือ วิธีแรก หากไม่จัดการผู้รุกล้ำลำน้ำ ก็ต้องทำพนังกั้นน้ำสูง 2 เมตรเพื่อป้องกัน วิธีที่ 2 เป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาว คือให้ผู้ที่รุกล้ำย้ายออกไปสร้างอาคารในสถานที่ใหม่ โดยมีการจ่ายค่าเยียวยาให้
"ต้องทำให้ลำน้ำสายลึกเหมือนเดิมและทำกำแพงให้เรียบร้อย เพื่อให้ลำน้ำกว้างขึ้นการขนถ่ายแรงงานต่างด้าวจะได้ขนกันยากขึ้น เพราะปัจจุบันลำน้ำแคบ แค่กระโดด 3-4 ก้าวก็ถึงอีกฝั่งแล้ว การข้ามมาของแรงงานชาวเมียนมาเข้าไทย หรือจากไทยไปเมียนมามันง่ายเหลือเกิน ความจริงเรื่องนี้เป็นเรื่องของความมั่นคงเลยและเกี่ยวข้องกับหลายส่วน เกี่ยวกับกรรมาธิการทหาร หากจะแก้ไขจริงๆ ก็นำเข้าสู่กรรมาธิการทหารและยังเกี่ยวกับกรมที่ดิน กรมเจ้าท่า ท้องที่ด้วย แต่ถ้าจะอยู่กันแบบนี้ไปเรื่อยๆ น้ำก็ท่วมทุกปี ซึ่งก็แล้วแต่คนท้องที่ แต่ถ้าจะให้แก้ก็บอกมาผมจะลุยให้ แต่ก็ต้องยอมเสียที่ดิน บ้านอาจจะต้องทุบทิ้ง" นายมงคลกิตติ์กล่าว