xs
xsm
sm
md
lg

จนท.สิ่งแวดล้อม-อุทยานฯ ดอยสุเทพเร่งลงพื้นที่เก็บตัวอย่าง "น้ำตกรับเสด็จ" หลังหมอดังโพสต์เตือนพบเชื้ออีโคไลสูงลิ่ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงใหม่ - จนท.สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 และอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ด่วนตรวจสอบและเก็บตัวอย่างน้ำใน “น้ำตกรับเสด็จ” ใกล้วัดพระธาตุดอยสุเทพ หลังหมอนักอนุรักษ์ชื่อดังโพสต์เตือนพบเชื้ออีโคไลปนเปื้อนสูงเกินมาตรฐานทำคนเสี่ยงเจ็บป่วย คาดอีกไม่เกิน 1 สัปดาห์ทราบผล พร้อมย้ำปกติไม่ควรนำน้ำจากผิวดินธรรมชาติมาดื่มโดยตรงอยู่แล้ว


จากกรณีที่นายแพทย์ รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์เฟซบุ๊ก Rungsrit Kanjanavanit เรื่องพบการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย "อีโคไล" ในน้ำตกแห่งหนึ่ง ทางขึ้นอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จังหวัดเชียงใหม่ ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ บริเวณโค้งขุนกัณฑ์ก่อนถึงวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ซึ่งมีคนตั้งชื่อว่า “น้ำตกรับเสด็จ” นั้น

 วันนี้ (15 ส.ค. ) สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 และอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เทศบาลตำบลสุเทพ ตลอดจนหน่วยงานด้านกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ประชุมด่วนเพื่อหารือเกี่ยวกับต้นตอแหล่งกำเนิดการปนเปื้อนของเชื้ออีโคไล เนื่องจากแบคทีเรียชนิดนี้มีอยู่ในทางเดินอาหารส่วนลำไส้ของคนและสัตว์ ที่จะถ่ายออกมาจากอุจจาระ เป็นเชื้อที่ก่อโรคท้องเสีย พร้อมทั้งมีเจ้าหน้าที่เดินทางไปเก็บตัวอย่างน้ำตกและน้ำในลำห้วยห้วยผาลาด 3 จุด 

ได้แก่ ตั้งแต่ต้นน้ำ คือที่ น้ำตก ปปป.(ปีนปักป้าย) กลางน้ำคือที่น้ำตกรับเสด็จ และปลายน้ำคือที่บริเวณสะพานวัดผาลาด เพื่อนำมาตรวจสอบคุณภาพน้ำอีกครั้ง คาดว่าจะใช้เวลา 1 สัปดาห์ โดยหลังจากที่เก็บตัวอย่างน้ำแล้ว ทางเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณลานจอดรถของดอยสุเทพซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชน ทั้งที่พักลานจอดรถ การบริการห้องน้ำ ร้านอาหารและร้านจำหน่ายของที่ระลึก โดยมีตัวเทนของเทศบาลฯ ร่วมด้วย


ทั้งนี้ เบื้องต้นนายประดิษฐ์ สีใส ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและมลพิษที่ 1 ระบุว่า ข้อมูลที่นำไปกล่าวอ้างเป็นการนำข้อมูลจากวิทยานิพนธ์ของนักศึกษามาใช้ โดยมีความคลาดเคลื่อนตรงที่เชื้ออีโคไล เป็นพารามิเตอร์ที่ถูกกำหนดในมาตรฐานคุณภาพน้ำดื่มเพื่อการบริโภค ไม่ได้ใช้ตรวจสอบคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2537) ซึ่งเป็นการกำหนดมาตรฐานแม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง รวมทั้งน้ำตก 

พารามิเตอร์ที่กำหนดมีวัตถุประสงค์เพื่อการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำนั้นๆ ได้ดำเนินการตรวจวิเคราะห์ตามมาตรฐานน้ำผิวดินในพารามิเตอร์ต้านแบคทีเรีย ได้แก่ Total Coliform Bacteria (TCB) และ Fecal Coliform Bacteria (FCB) หากมีการตรวจพบก็บ่งชี้ว่าแหล่งน้ำนั้นมีการปนเปื้อนจากของเสียที่ออกมาจากสิ่งขับถ่ายของสัตว์เลือดอุ่น ซึ่งสะท้อนว่าอาจมีการระบายน้ำเสียจากชุมชนหรือครัวเรือนลงแหล่งน้ำ การนำค่าผลตรวจ Fecal Coliform Bacteria (FCB) ไปสื่อสารว่าเป็นอีโคไลอาจทำให้เกิดความสับสน

ขณะเดียวกัน ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อม และควบคุมมลพิษที่ 1 เชียงใหม่ บอกว่า เบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่ได้ทำความเข้าใจกับนายแพทย์ที่เป็นผู้โพสต์แล้วว่า เอกสารและข้อมูลที่ใช้มาอ้างอิงนั้นเป็นงานวิจัยเก่า ซึ่งตอนนั้นห้องปฏิบัติการยังไม่มีเครื่องมือที่ใช้ตรวจอีโคไล ดังนั้นการนำค่าผลตรวจ Fecal Coliform Bacteria (FCB) ของงานวิจัยนี้ยังไม่สามารถชี้ชัดว่าเป็นอีโคไลได้ อีกทั้งอีโคไลจากข้อมูลที่ชี้แจงเป็นมาตรฐานการตรวจคุณภาพน้ำดื่มไม่ใช่น้ำผิวดิน ซึ่งตามปกติแล้วสามารถพบอีโคไลได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติ จึงเป็นการไม่ปลอดภัยอยู่แล้วที่จะนำน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติมาดื่มกินได้ทันที 

อย่างไรก็ตาม หลังจากการเก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจครั้งนี้ก็จะแบ่งน้ำไปตรวจหาอิงีโคไล โดยทางฝั่งของศูนย์อนามัยที่ 1 จะรับไปตรวจวิเคราะห์พร้อมกันด้วย คาดว่าใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์จะรู้ผลต่างๆ แต่เบื้องต้นจากการตรวจคุณภาพน้ำในระดับผิวดินนั้นพบว่ามีค่าออกซิเจนสูง มีความสะอาดอยู่ในระดับดีมาก แต่ทั้งนี้รอผลการตรวจโดยละเอียดอีกครั้งเพื่อความสบายใจ


ขณะที่นายวิภู กฤษณุรักษ์ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อม ศูนย์อนามัยที่ 1 กรมอนามัย ซึ่งลงพื้นที่ตรวจด้วย เปิดเผยว่า มาตรฐานในการตรวจคุณภาพน้ำนั้นมีการตรวจอยู่ 2 ประเภท ในส่วนของกรมควบคุมมลพิษนั้นตรวจสอบแหล่งน้ำดิบตามมาตรฐานน้ำผิวดิน ในส่วนของกรมอนามัยนั้นเป็นการตรวจมาตรฐานน้ำดื่ม ซึ่งมีเรื่องอีโคไลเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ที่เกิดปัญหาในขณะนี้คือเป็นแหล่งน้ำผิวดิน ซึ่งไม่ใช่แหล่งน้ำดื่ม 

ส่วนเรื่องของการปนเปื้อนของอีโคไลนั้นตามแหล่งน้ำธรรมชาติก็มีโอกาสในการปนเปื้อนอยู่แล้ว ทั้งสาเหตุจากแหล่งชุมชนที่ไม่ถูกสุขอนามัย เรื่องของการขับถ่ายของเสียใกล้แหล่งน้ำ หรือมีการระบายลงสู่แหล่งน้ำก็มีโอกาสปนเปื้อนอยู่แล้ว ดังนั้นแหล่งน้ำธรรมชาติจึงไม่ใช่แหล่งน้ำที่เหมาะสำหรับกินดื่มได้โดยตรงโดยไม่ผ่านกระบวนการทำให้สะอาดปลอดภัย

รายงานข่าวแจ้งว่า ล่าสุดทางด้าน นายแพทย์ รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์เฟซบุ๊ก Rungsrit Kanjanavanit อีกครั้ง โดยโพสต์ว่า "หลังจากผมให้ข้อมูลเรื่อง น้ำตก อีโคไล มีคนออกมาแย้งว่า E.coli ไม่ใช่เชื้อก่อโรค ไม่เป็นอันตรายกับคน คือ อันนั้นถูกต้องครับ โดยทั่วไป E.coli ไม่ใช่เชื้อก่อโรคโดยตรง จะมีบางสายพันธุ์เท่านั้น (EHEC) ที่เป็นอันตราย เกิดลำไส้อักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือดได้ แต่พบไม่บ่อย แต่การมี E.coli ในปริมาณสูง (กรณี น้ำตกรับเสด็จนี้ คือ 92,000 โคโลนีต่อน้ำ 100 ml - โดยมาตราฐานน้ำใช้ ต้องไม่เกิน 126, มาตราฐานน้ำดื่ม = 0) มันเป็นตัวชี้วัดว่ามีการปนเปื้อนจากอุจจาระมนุษย์หรือสัตว์ ซึ่งอาจมีเชื้อโรคอื่นๆ ปะปน (ที่เราไม่ได้ตรวจวัด) เช่น แบคทีเรียลำไส้อักเสบ salmonella shigella โปรโตซัว Giardia หรือไวรัส ตับอักเสบ A เป็นต้น ได้ครับ แต่ถ้าเป็นแนวสาวกพระบิดา ก็คงรับได้กับ E.coli ครับ"








กำลังโหลดความคิดเห็น