xs
xsm
sm
md
lg

ชลประทานเชียงใหม่เฝ้าระวังผลกระทบ “มู่หลาน” เชื่อระดับแม่น้ำปิงไม่หลากล้นท่วมเขต ศก.ในตัวเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงใหม่ - ชลประทานเชียงใหม่เฝ้าระวังใกล้ชิดสถานการณ์น้ำในแม่น้ำปิงจากอิทธิพลพายุมู่หลาน เบื้องต้นคาดไม่เกิน 320 ลบ.ม.ต่อวินาที เชื่อไม่หลากท่วมเขตเศรษฐกิจในตัวเมืองหากฝนไม่มีเพิ่ม น้ำท่าจากแหล่งอื่นไม่เติมเข้ามามาก แนะประชาชนเฝ้าติดตามสถานการณ์และประกาศกรมอุตุฯ ต่ออีก 2-3 วัน


วันนี้ (13 ส.ค. 65) ที่ประตูระบายน้ำท่าวังตาล ต.ป่าแดด อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ (ผคป.เชียงใหม่) พร้อมด้วย นายเกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม โครงการชลประทานเชียงใหม่ ชี้แจงถึงสถานการณ์น้ำในแม่น้ำปิงซึ่งบริหารจัดการโดยประตูระบายน้ำว่า จากอิทธิพลของพายุโซนร้อนมู่หลานที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่บริเวณตอนเหนือของจังหวัดเชียงใหม่ เช่น อ.ฝาง แม่อาย ไชยปราการ ส่วนสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำปิงตอนบนขณะนี้เริ่มลดลง จากเดิมระดับน้ำวัดได้ที่ อ.เชียงดาว อยู่ที่ระดับ 280 ลบ.ม.ต่อวินาที ขณะนี้ลดลงเหลือ 180 ลบ.ม.ต่อวินาที ขณะที่ที่สถานีวัด P.1 เชิงสะพานนวรัฐ มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 255 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งลำน้ำจะรับปริมาณน้ำได้ที่ 445 ลบ.ม.ต่อวินาที

ในส่วนการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทานนั้น ได้เร่งการระบายน้ำที่ ปตร.ท่าวังตาล ต.ป่าแดด ซึ่งขณะนี้ระบายอยู่ที่ 265 ลบ.ม.ต่อวินาที คาดการณ์ว่าช่วงบ่ายถึงค่ำของวันนี้จะมีน้ำจากลำน้ำแม่แตงมาสมทบในลำน้ำปิงตอนบนก่อนเข้าเมือง ซึ่งปัจจุบันนี้มีปริมาณอยู่ราว 228 ลบ.ม.ต่อวินาที คาดว่าจะเข้ามาถึงเขตตัวเมืองในช่วงบ่ายถึงค่ำวันนี้ ก็คาดว่าจะมีปริมาณน้ำในเขตเมืองราว 320 ลบ.ม.ต่อวินาที ก็จะยังไม่ล้นตลิ่งในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ หากไม่มีน้ำเพิ่มมากขึ้นทางตอนเหนือหรือเกิดน้ำป่าเพิ่มเติมเข้ามาอีก โดยล่าสุดน้ำในลำน้ำปิงขณะนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งราว 1 เมตร

ส่วนประตูระบายน้ำท่าวังตาล ขณะนี้ได้เปิดบานพ้นน้ำ 2 บาน และยกบาน 1 เมตร อีก 1 บาน อัตราการระบายขณะนี้ระดับน้ำหน้าและท้ายประตูระบายน้ำมีระดับใกล้เคียงกัน การระบายระดับนี้ก็ยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้าย ปตร.ลงไป เนื่องจากได้มีการระบายน้ำจากประตูระบายน้ำด้านล่างลงไปก่อนหน้าแล้ว ตั้งแต่ ปตร.แม่สอย ปตร.ดอยน้อย ปตร.วังปาน เพื่อระบายน้ำปิงให้ลงเขื่อนภูมิพลให้เร็วที่สุด” ผคป.เชียงใหม่กล่าว

สำหรับระดับน้ำจากอำเภอเชียงดาวซึ่งมีปริมาณที่มากตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 65 มีปริมาณมากถึง 280 ลบ.ม.ต่อวินาที จะส่งผลต่อตัวเมืองเชียงใหม่มากน้อยเพียงใดนั้น นายจรินทร์กล่าวว่า พื้นที่ของน้ำปิงตอนบนเป็นพื้นที่ต้นน้ำในเขต อ.เชียงดาว ซึ่งวัดได้มากถึง 280 กว่า ลบ.ม.ต่อวินาที แต่ปริมาณน้ำดังกล่าวเข้ามาในเขตเมืองทางตอนล่างปริมาณลดลง เนื่องจากพื้นที่เขต ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว สภาพแม่น้ำปิงช่วงนี้จะเป็นคอขวด จึงเป็นธรรมชาติให้ช่วยหน่วงน้ำไว้ทางตอนบน เพราะฉะนั้นน้ำปริมาณมากก็จะไม่ไหลเทลงมาที่เดียว จะถูกถ่วงน้ำไว้บริเวณนี้ก่อน

“กรมชลประทานได้มีการติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมทั้งทางจังหวัดเชียงใหม่ สนง.ปภ.จังหวัด หน่วยงานต่างๆ กรมชลประทานได้ประเมินแล้วว่าปริมาณน้ำคาดจะอยู่ที่ 320 ลบ.ม.ต่อวินาที และหากเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ไม่มีฝนตกเพิ่ม ไม่มีน้ำท่าจากที่อื่นไหลลงมาเพิ่ม คาดว่าพื้นที่เขตเศรษฐกิจของเชียงใหม่ไม่มีปัญหาเรื่องของน้ำท่วม ซึ่งต้องฝากพี่น้องประชาชนให้เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดไปอีก 2-3 วัน ตลอดจนติดตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาด้วย” นายจรินทร์กล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น