xs
xsm
sm
md
lg

ทลฉ.มอบเงินเยียวยากลุ่มประมงเรือเล็กที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาท่าเรือ ระยะที่ 3 ปีที่ 2 กว่า 100 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวศรีราชา - ท่าเรือแหลมฉบัง มอบเงินเยียวยาให้กลุ่มประมงเรือเล็กที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ปีงบประมาณ 2565 ซึ่งจ่ายเป็นปีที่ 2 กว่า 100 ล้านบาท

วันนี้ (9 ส.ค.) นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นประธานในพิธีมอบเงินค่าชดเชยเยียวยาให้กลุ่มประมงเรือเล็ก ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 ปี งบประมาณ 2565 ร่วมกับอำเภอบางละมุง ในฐานะประธานคณะทำงานพิจารณาข้อมูลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 โดยมีนายบัณฑิต สาครวิศวะ ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง พร้อมด้วย เรือเอกกานต์ เมนะรุจิ รองผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง และผู้บริหารท่าเรือแหลมฉบัง ร่วมพิธีมอบเงิน ณ ห้องแตรทอง 1 ศูนย์สวัสดิการท่าเรือแหลมฉบัง

นายเกรียงไกร กล่าวว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย มีนโยบายการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบัง ในการรองรับเรือตู้สินค้าระหว่างประเทศ และเป็นการเพิ่มศักยภาพในการให้บริการการขนสินค้าทางทะเล โดยมีการดำเนินการตามมาตรการในรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างรุนแรง โครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 (EHIA) ที่กำหนดให้มีการจ่ายค่าชดเชยเยียวยาให้กลุ่มประมง ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ

สำหรับการมอบเงินค่าชดเชยเยียวยาให้กลุ่มประมงเรือเล็ก ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ มีจำนวน 289 ราย เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 125,943,799 บาท โดยมีการมอบเงินชดเชยเยียวยาให้กลุ่มประมงเรือเล็ก ดังนี้ 1.กลุ่มประมงชุมชนบ้านแหลมฉบัง จำนวน 74 ราย 2.กลุ่มประมงบ้านโรงโป๊ะ หมู่ที่ 3 จำนวน 42 ราย 3.กลุ่มประมงเทศบาลตำบลบางละมุง จำนวน 25 ราย 4.กลุ่มประมงบ้านนาเกลือ จำนวน 64 ราย 5.กลุ่มประมงชุมชนบ้านบางละมุง จำนวน 58 ราย และ 6.กลุ่มอนุรักษ์ประมงบ้านปากคลองบางละมุง จำนวน 26 ราย  โดยการมอบเงินชดเชยเยียวยาครั้งนี้ เป็นปีที่ 2 ของการมอบเงินค่าชดเชยเยียวยา ที่มีการแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงระยะการก่อสร้าง 4 ปี และช่วงระยะเวลาการฟื้นฟู 2 ปี ภายหลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จ รวมระยะเวลาการมอบเงินค่าชดเชยเยียวยา จำนวน 6 ปี

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า ในฐานะผู้แทนการท่าเรือแห่งประเทศไทย ท่าเรือแหลมฉบัง นายอำเภอบางละมุง ในฐานะประธานคณะทำงานพิจารณาข้อมูลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว และคณะทำงานทุกท่านที่ร่วมสละเวลาเพื่อร่วมการพิจารณาข้อมูลต่างๆ จนทำให้เกิดการมอบเงินค่าชดเชยเยียวยาให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมกันพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง จนประสบความสำเร็จในทุกวันนี้

ท่าเรือแหลมฉบัง มิได้มุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ท่าเรือแหลมฉบัง ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน ด้วยความรับผิดชอบใส่ใจต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ ที่เปรียบเสมือนคนในครอบครัว ดังคำที่ว่า “การท่าเรืออยู่ได้ ประชาชนก็ต้องอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและยั่งยืน”












กำลังโหลดความคิดเห็น