xs
xsm
sm
md
lg

นพ.สสจ.กาญจนบุรี ขอความร่วมมือประชาชนเฝ้าระวังป้องกันโรคฝีดาษลิง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาญจนบุรี - นพ.สสจ.กาญจนบุรี ให้ความรู้เรื่องโรคฝีดาษลิง พร้อมขอความร่วมมือประชาชนเฝ้าระวังป้องกันโรค แต่อย่าตื่นตระหนก ล่าสุดพบผู้ป่วยยืนยันเพิ่มขึ้นเป็น 83 ประเทศ
 
วันนี้ (8 ส.ค.) นายแพทย์ชาติชาย กิติยานันท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี ขอประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชนเพื่อให้ความรู้เรื่องโรคฝีดาษลิง คือขอความร่วมมือประชาชนเฝ้าระวังป้องกันโรคฝีดาษลิง แต่อย่าตื่นตระหนก โดยสถานการณ์โรคฝีดาษวานรทั่วโลก (ข้อมูล ณ วันที่ 4 ส.ค.65) ผู้ป่วยยืนยันทั่วโลก 26,208 ราย พบผู้ป่วยยืนยันเพิ่มขึ้นเป็น 83 ประเทศ
 
โดยพื้นที่การแพร่ระบาดส่วนใหญ่พบอยู่ในแถบทวีปยุโรป ประเทศที่มีผู้ป่วยสูง 5 ลำดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 6,617 ราย สเปน 4,806 ราย เยอรมนี 2,781 ราย อังกฤษ 2,672 ราย และฝรั่งเศส 2,239 ราย สำหรับสถานการณ์โรคฝีดาษวานรในประเทศไทย ขณะนี้พบผู้ป่วยยืนยันโรคฝีดาษวานร จำนวน 4 ราย โดยผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นชายชาวไนจีเรีย ที่ภูเก็ต รายที่ 2 ชายชาวไทย ในกรุงเทพมหานคร รายที่ 3 ชายชาวเยอรมัน ที่ภูเก็ต และรายที่ 4 เป็นเพศหญิงรายแรกในประเทศ
 
โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน และติดจากคนสู่คนได้ สาเหตุนั้นเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae พบได้ในสัตว์หลายชนิดไม่ใช่แค่ลิง พบได้ในสัตว์ตระกูลฟันแทะ เช่น กระต่าย กระรอก หนู และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เป็นต้น
 
โรคนี้พบมากในประเทศแถบแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก มักเกิดจากการเดินทางระหว่างประเทศหรือการนำเข้าสัตว์ที่ติดเชื้อ โรคฝีดาษวานรไม่ได้ติดต่อง่ายหรือมีความรุนแรง จึงใช้มาตรการป้องกันคัดกรองผู้เดินทางจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่เชื้ออยู่ที่ตุ่มหนองที่ผิวหนัง ขอให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีตุ่มฝีตุ่มหนอง ซึ่งการมีเพศสัมพันธ์ถือเป็นการสัมผัสใกล้ชิดรูปแบบหนึ่ง
 
เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน หรืออาจนานถึง 21 วัน โดยอาการและอาการแสดง ผู้ป่วยมักเริ่มด้วยอาการไข้ และผื่น จะเริ่มจากตุ่มแดง ประมาณ 5-7 วันหลังรับเชื้อ และตุ่มจะเปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำ ตุ่มหนอง และแห้งเป็นสะเก็ด จำนวนมากน้อยตามความรุนแรงของโรคและการตอบสนองของผู้ป่วย 
 
ซึ่งขณะนี้ยังไม่มียารักษาเฉพาะ ใช้การรักษาตามอาการ ส่วนผู้ป่วยที่เสี่ยงสูงต่ออาการรุนแรง คือ ผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่างๆ ผู้ปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ปลูกถ่ายไขกระดูกภายใน 2 ปี ผู้ที่เป็นโรคที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เด็กอายุต่ำกว่า 8 ขวบ หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ส่วนคำแนะนำป้องกันประชาชนทั่วไป ขอให้สวมหน้ากาก ลดสัมผัสละอองฝอยจากผู้ป่วย ล้างมือบ่อยๆ เลี่ยงสัมผัสตุ่มหนองสารคัดหลั่งร่างกาย
 
สำหรับการป้องกันควบคุมโรค ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามข้อแนะนำดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า 2.หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ 3.หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ หรือเดินทางเข้าไปในป่า 4.ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการ คัดกรองโรค และ 5.กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักเพื่อมิให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ
 
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนเฝ้าระวังป้องกันโรค แต่อย่าตื่นตระหนก ให้หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสารคัดหลั่ง ระมัดระวังการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีตุ่มฝีหนอง ซึ่งการมีเพศสัมพันธ์ถือเป็นการสัมผัสใกล้ชิดรูปแบบหนึ่ง หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับคนแปลกหน้าหรือเพิ่งรู้จักกัน งดการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จัก  เพราะมีความเสี่ยงที่ไม่รู้ประวัติพฤติกรรมและการป่วยของคนนั้น
 
ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น กินอาหารร้อนปรุงสุก หลีกเลี่ยงสัมผัสใกล้ชิดผู้ที่มีอาการเข้าข่ายของโรคฝีดาษวานร โดยเฉพาะผู้ที่มีผื่น ตุ่ม หนอง ตามผิวหนัง หากมีอาการสงสัยว่าตนเองมีอาการป่วยเข้าข่ายโรคฝีดาษวานร สามารถติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อรับการตรวจหาเชื้อได้ทันที หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422




กำลังโหลดความคิดเห็น