ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ส่องสวนทุเรียนปากช่อง โคราช ล็อตสุดท้าย เกษตรกรยิ้มแก้มปริมีเท่าไรไม่พอขาย ชูเอกลักษณ์เด่น “เนื้อแห้ง ละมุนลิ้น กลิ่นไม่แรง” ด้านเกษตรจังหวัดฯ เผยทุเรียนโคราชปีนี้ให้ผลผลิตกว่า 5,000 ไร่ ปิดท้ายฤดูกาลโกยรายได้กว่า 500 ล้าน คาดอีก 3 ปีทุเรียนโคราชสดใส สร้างรายได้พุ่ง 1,000 ล้าน พร้อมตีตลาดโลก
วันนี้ (3 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางน้ำเงิน ยศสูงเนิน นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา ได้นำคณะเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนตรวจเยี่ยมชมสวนทุเรียนช่วงปลายฤดูในพื้นที่อำเภอปากช่อง จ.นครราชสีมา
นางน้ำเงิน ยศสูงเนิน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน จ.นครราชสีมามีพื้นที่ปลูกทุเรียนอยู่ประมาณ 4-5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ปากช่อง, เสิงสาง, ครบุรี และ อ.หนองบุญมาก ถือได้ว่าเป็นเส้นทางทุเรียนของโคราช ปีนี้ทุเรียนโคราชให้ผลผลิตแล้วประมาณ 5,000 ไร่ จุดใหญ่อยู่ที่ อ.ปากช่อง ประมาณ 2,000 ไร่ ตามด้วย อ.ครบุรี อ.หนองบุญมาก และ อ.เสิงสาง ประมาณ 3,000 ไร่ แต่ละพื้นที่ได้มีการจัดงานส่งเสริมการตลาดการจำหน่ายทุเรียนในทุกพื้นที่ โดยคาดว่าผลผลิตทุเรียนโคราชปีนี้สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและจังหวัดนครราชสีมารวมกว่า 500 ล้านบาท
ขณะนี้เป็นช่วงปลายฤดูแล้ว ซึ่งสำนักงานเกษตรจังหวัดฯ ได้ส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มผู้ปลูกทุเรียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทุเรียน การทำเกษตรแปลงใหญ่ทุเรียน โดยสนับสนุนปัจจัยต่างๆ และภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการได้เพิ่มช่องทางการจำหน่ายด้วยทำการขายผ่านช่องทางออนไลน์ และจองหน้าสวน ทำให้การปลูกทุเรียนในจังหวัดนครราชสีมาขยายผลเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่า 2-3 ปีนี้ผู้บริโภคจะได้รับประทานทุเรียนโคราชมากขึ้น แม้ปีนี้ผลผลิตที่ออกสู่ตลาดอาจยังออกน้อยอยู่ แต่ปีหน้าคาดว่าจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น เพราะจำนวนการปลูกและอายุต้นทุเรียนครบรอบการออกผลผลิตเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก คาดว่า 4-5 ปีนี้ทุเรียนปากช่องจะมีผลผลิตจำนวนมากเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว
สำหรับความโดดเด่นของทุเรียนปากช่อง คือ เนื้อแห้ง เนียน ละมุนลิ้น กลิ่นไม่แรง รสชาติคล้ายกับทุเรียนภูเขาไฟ จ.ศรีสะเกษ เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค และที่ อ.ปากช่อง ทุเรียนยังได้รับการรับรองเป็น GI หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ทำให้การยกระดับของทุเรียนโคราชเป็นที่รู้จักระดับประเทศมากขึ้น คาดว่าอีก 2-3 ปีจะมีเพียงพอต่อความต้องการของตลาด ปีนี้ทุเรียนของโคราชเป็นที่ต้องการสูงมากแต่มีผลผลิตไม่เพียงพอต่อการจำหน่าย ถึงกับผู้บริโภคต้องมาสั่งจองซื้อถึงสวนกันนานเป็นปี
“อำเภอปากช่อง โดยสำนักงานเกษตรอำเภอปากช่อง จะรวบรวมผู้ประกอบการตั้งเป็นสมาคมผู้ส่งออกทุเรียนขึ้น โดยร่วมกับผู้ประกอบการทั่วประเทศ ซึ่ง อ.ปากช่อง จะได้เปรียบในเรื่องของภาคเอกชนและบริษัทต่างๆ ที่เข้ามาให้การอบรม และศึกษาดูงาน คาดว่า 3-4 ปีนี้จะเห็นทุเรียนโคราชส่งออกตลาดต่างประเทศ ซึ่งตอนนี้ตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะจีนเริ่มเข้ามาแล้ว” นางน้ำเงินกล่าว
นางน้ำเงินกล่าวอีกว่า ตอนนี้ทุเรียนถือเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่โดดเด่นและมาแรงอีกตัวหนึ่งของโคราช สำหรับเกษตรกร ใน จ.นครราชสีมา นอกจากการทำพืชไร่ ขณะนี้หลายพื้นที่ก็เริ่มนำทุเรียนเข้ามาปลูกเพิ่มกับพืชชนิดอื่นๆ และเอาจริงเอาจังกับการทำสวนทุเรียน เนื่องจากเห็นรายได้ที่เกิดขึ้นและลักษณะภูมิประเทศยังเอื้อต่อการปลูกทุเรียนที่ให้ผลผลิตที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง คาดว่า 2-3 ปีนี้ทุเรียนจะทำรายได้ให้โคราชถึงปีละ 1,000 ล้านบาทอย่างแน่นอน
ด้าน นายบุญธรรม โสดานิล เกษตรกรวัย 60 ปี เจ้าของ “สวนทุเรียนแม่บานเย็น” ม.2 ต.หนองน้ำแดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เป็นเกษตรกรที่ประสบผลสำเร็จกับหลักการทำการเกษตร “ทำน้อย ได้มาก” โดยใช้พื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียง 2 ไร่ ปลูกทุเรียน 100 ต้น สร้างรายได้ปีละกว่า 500,000 บาท ได้นำคณะเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนชมสวนทุเรียนซึ่งเหลือผลผลิตในสวนเพียงไม่กี่ต้น
นายบุญธรรมบอกว่า จากความชอบกินทุเรียนของภรรยาและชอบปลูกต้นไม้ ตนจึงใช้พื้นที่หลังบ้านที่มีเพียง 2 ไร่มาปลูกทุเรียนหลายสายพันธุ์เมื่อ 10 ปีก่อน ปัจจุบันให้ผลผลิตแล้วมี 6 สายพันธุ์ ทั้ง กระจิบ ก้านยาว หลงลับแล หลินลับแล นกจิบ และหมอนทอง โดยดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี ทำสวนให้สะอาด ไม่ใช้สารเคมี บำรุงรักษาตามหลักการที่เจ้าหน้าที่เกษตรแนะนำซึ่งได้มาตรฐาน GAP และ GI โดยให้ผลผลิตปีละกว่า 3 ตัน ทุเรียนต้นหนึ่งสามารถให้ผลผลิตได้มากสุดที่เคยทำได้ประมาณ 70-80 ลูก ต้นหนึ่งทำรายได้สูงถึง 20,000-30,000 บาท ลูกค้าส่วนใหญ่จะพากันจองซื้อข้ามปี ตลาดหลักคือขายหน้าสวนและไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า โดยทุเรียนจะออกผลผลิตและตัดได้ตั้งแต่เดือน พ.ค.-ต้นเดือน ส.ค. โดยสวนทุเรียนแม่บานเย็นจะเน้นทุเรียนแก่จัดถึงตัดขาย
ด้าน น.ส.ดวงใจ พุทธศัยยา อายุ 51 ปี เจ้าของ “สวนทุเรียนถ้ำค้างคาว” ตั้งอยู่หมู่ 2 ต.วังกระทะ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา จากอดีตพนักงานบริษัทการเงินผันตัวมาเป็นเกษตรกรเต็มตัว เปิดเผยว่า ด้วยความเป็นคนชอบรับประทานทุเรียนเป็นชีวิตจิตใจ จึงได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ไร่อ้อยและสวนยางพาราของครอบครัว มาปลูกทุเรียนกว่า 62 ไร่ โดยปลูกทุกสายพันธุ์เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคทุกกลุ่ม รวมประมาณ 3,000 ต้น แต่ส่วนใหญ่เป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทองและถือเป็นสวนทุเรียนขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ของ อ.ปากช่อง ขณะนี้ให้ผลผลิตแล้วประมาณ 10 ไร่ หรือกว่า 100 ต้น สร้างรายได้กว่า 100,000 บาท อีก 4 ปีข้างหน้าทุเรียนสวนถ้ำค้างคาวจะให้ผลผลิตไม่น้อยกว่า 100 ตัน
สำหรับรสชาติความอร่อยของทุเรียนสวนถ้ำค้างคาว นอกจากมีเอกลักษณ์ของทุเรียนปากช่องครบถ้วน คือ เนื้อแห้ง เนียน ละมุนลิ้น กลิ่นไม่แรงแล้ว ยังมีรสเฉียบหรือเข้มข้นไม่เหมือนใคร ซึ่งเราเป็นทุเรียนที่ได้มาตรฐาน GAP และ GI แล้ว นอกจากนี้เรายังมีสวนเงาะ มังคุด ลองกอง อะโวคาโด ที่ปลูกไว้คอยต้อนรับลูกค้านักท่องเที่ยวที่เข้ามาชมสวนทุเรียนได้ลิ้มรสผลไม้ชนิดอื่นๆ ด้วย
ทุเรียนสวนถ้ำค้างคาวจะใช้ทั้งเกษตรอินทรีย์และปุ๋ยเคมีผสมผสานกัน หากทุเรียนในสวนให้ผลผลิต 100% ทั้ง 3,000 ต้น ตามแผนการตลาดเราจะกระจายผลผลิตไปตามตลาดต่างๆ โดย 80% ส่งให้ล้งที่เป็นเครือข่ายธุรกิจกันอยู่ที่ จ.จันทบุรี เพื่อกระจายสู่ตลาดทั่วประเทศและส่งออกต่างประเทศ ส่วนอีกประมาณ 20% จะคัดเกรดพรีเมียมเพื่อขายในพื้นที่หรือหน้าสวนรองรับการพัฒนาสวนเป็นเกษตรเชิงท่องเที่ยวด้วย ซึ่งสวนทุเรียนถ้ำค้างคาวแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้กับถ้ำค้างคาว กลายเป็นจุดชมวิวที่มีค้างคาวนับล้านตัวบินออกหากินทุกวัน และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
“ ปีนี้ทุเรียนถ้ำค้างคาวราคาขายหน้าสวนอยู่ที่กิโลกรัมละ 180 บาท แต่มีทุเรียนไม่พอขาย อย่างไรก็ตามฝากเชิญชวนผู้บริโภคให้หันมาบริโภคทุเรียนปากช่อง รับรองไม่ผิดหวังในความอร่อยอย่างแน่นอน โดยเฉพาะทุเรียนสวนถ้ำค้างคาวนั้นรสเฉียบมาก” น.ส.ดวงใจกล่าวในตอนท้าย