xs
xsm
sm
md
lg

ไม่กี่อึดใจเสร็จเป็นไร่! ปางช้างแม่แตงส่ง 2 ช้างพังอมก๋อยตกงานจากโควิด ไถ-คราดนาอินทรีย์เชิงดอยหลวงเชียงดาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงใหม่ - เห็นแล้วเป็นต้องประทับใจ..เจ้าของปางช้างแม่แตงส่ง “พังจันทร์นวล-พังสองสี” สองช้างพังที่เคยตกงานช่วงโควิดจากอมก๋อย ลงลุยไถ-คราดผืนนาปลอดสารพิษ พร้อมเปิดโฮมสเตย์เชิงดอยหลวงเชียงดาว


และแล้วผืนนาข้าวอินทรีย์เชิงดอยหลวงเชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ของ “วิเชียร-วาสนา ทองสุข สามีภรรยาเจ้าของปางช้างแม่แตง อ.แม่แตง เชียงใหม่” ก็ได้รับการไถ-คราด เสร็จลงอย่างรวดเร็วทีละแปลงๆ ด้วยแรงของ “พังจันทร์นวล อายุ 35 ปี และพังสองสี อายุ 23 ปี” ก่อนที่จะใช้แรงคนลงปลูก

ซึ่งเดิมทีช้างพัง 2 เชือกนี้เป็นช้างจาก ต.นาเกียน อ.อมก๋อย เคยทำงานในปางช้างท่องเที่ยวมาก่อน กระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ตกงานมาร่วม 3 ปี เจ้าของขาดรายได้มาเลี้ยงดูช้าง กระทั่งสถานการณ์การท่องเที่ยวเริ่มดีขึ้น จึงขอนำช้างเข้าร่วมงานกับปางช้างแม่แตง

แต่ด้วยความสามารถพิเศษของช้างทั้ง 2 เชือกที่เชี่ยวชาญในการไถนา วิถีชีวิตและภูมิปัญญาของชาวกะเหรี่ยงมีการใช้ช้างไถนามาช้านาน และทางปางช้างฯ มีแปลงนาเกษตรอินทรีย์ 16 ไร่ จากที่ดินแปลงงามทั้งหมดร่วม 30 ไร่ เชิงดอยหลวงเชียงดาว อ.เชียงดาว ที่ปลูกข้าวมาเลี้ยงพนักงานและควาญช้าง จึงส่งช้างไปไว้ที่เชียงดาวเพื่อช่วยทำนาในปีนี้ ก่อนจะเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ทำโฮมสเตย์กับช้าง ในนาม..“ฮักช้างเชียงดาว”


ทั้งนี้ ควาญช้างจะเริ่มนำ “พังจันทร์นวล-พังสองสี” เฉพาะช่วงเช้าก่อนที่อากาศจะร้อน ซึ่งด้วยเรี่ยวแรงมหาศาลของช้างพังทั้งคู่ ผืนนาขนาด 40-50 ตารางวา..เพียงไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ก็ถูกไถถูกคราดเรียบร้อย นาไร่หนึ่งจึงใช้เวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมงก็เสร็จ ก่อนที่พี่ควาญปล่อยให้ช้างหยุด-ทำสปาโคลนกลางทุ่ง และอาบน้ำ

พังจันทร์นวลและพังสองสีมีความสุขมากที่ได้มาอยู่ที่นี่เพราะพี่ควาญใจดี มีคุณหมอสัตวแพทย์คอยดูแลสุขภาพ อาหารการกินบริบูรณ์ มีบ่อโคลนให้เล่น มีลำธารใสเย็นจากถ้ำใต้ดอยหลวงเชียงดาวให้อาบน้ำในลำธารที่มีน้ำใสไหลเย็นจากถ้ำใต้ดอยหลวงเชียงดาว รวมทั้งมีสัตวแพทย์ คอยดูแลเรื่องสุขภาพช้างตลอด

ทั้งนี้ ช้างไถนาไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ถือเป็นวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในตำบลนาเกียน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และเป็นอันซีนไทยแลนด์อย่างหนึ่งที่นักท่องเที่ยวมีโอกาสได้สัมผัสในช่วงฤดูทำนา






กำลังโหลดความคิดเห็น