พิษณุโลก - ผู้ว่าฯ-นายอำเภอตระเวนชม-ชิม ปลุกกระแสเที่ยวสวนอินทผลัมเนินมะปราง-วังทอง พิษณุโลก เผยแต่ละสวนต่างต่อยอดสร้างจุดขายทั้งด้านการท่องเที่ยว พัฒนาสายพันธุ์ขายได้ต้นละ 4 หมื่น
ห้วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก, นางวัชรินทร์ จิตรวิเศษ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดพิษณุโลก ตลอดจนนายอำเภอเนินมะปราง นายอำเภอวังทอง ต่างยกคณะตระเวนเยี่ยมชม “สวนอินทผลัม” ที่มีการลงทุนปลูกกันหลายพื้นที่ของพิษณุโลก
โดยเฉพาะ “อำเภอเนินมะปราง” ซึ่งมีเกษตรกรลงทุนปลูกอินทผลัมกันหลายราย และเตรียมเปิดเทศกาลอินทผลัมสด ณ สวนอินทผลัมพิษณุโลก บ้านเขาดิน ต.ไทรย้อย อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก วันเสาร์ที่ 30 ก.ค. 2565 เพื่อส่งเสริมการต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สวนอินทผลัม
ภายในงานจะมีทั้งการแสดงจากนักเรียนโรงเรียนไทรย้อยพิทยาคม, แข่งขันกินอินทผลัมชิงรางวัล ถ่ายรูปเช็กอิน คึกคักด้วยบูทขายผลิตภัณฑ์จากสวนอินทผลัมในพื้นที่ประมาณ 5 แห่ง และบูทสินค้าร้านค้าชุมชนต่างๆ ในพื้นที่ตำบลไทรย้อย และ "ส้มตำอินทผลัมปลาร้า 8 ปี" แจกฟรี
ทั้งนี้..อำเภอเนินมะปรางมีส่วนอินทผาลัมรายใหญ่คือ “สวนอินทผลัมพิษณุโลก” เลขที่ 156 หมู่ที่ 5 บ้านเขาดิน ต.ไทรย้อย อ.เนินมะปราง เนื้อที่ทั้งหมดราว 100 ไร่ ซึ่งที่นี่มีเมนูเด็ด “ส้มตำอินทผลัมปลาร้า 8 ปี” เป็นจุดขายโดดเด่น
นางสาวนัทธ์ศศิ ดวงปัญญา เจ้าของ "สวนอินทผลัมพิษณุโลก" เปิดเผยว่า อินทผลัมสดๆ ซึ่งปลูกบนดินลูกรัง ถือเป็นอัตลักษณ์อินทผลัมบ้านเขาดิน ต.ไทรย้อย อ.เนินมะปราง เพราะได้รสชาติเข้มข้น “เปลือกบาง หวานฉ่ำ เนื้อแน่น กรอบหอมละมุนลิ้น” แต่ละปีจะมีผลผลิตออกเพียงครั้งเดียว คือช่วงนี้จนใกล้ๆ สิ้นสิงหาคมนี้เท่านั้น
ที่สวนอินทผลัมพิษณุโลกต้องชูจุดขายท่องเที่ยวและลิ้มชิมผลอินทผลัมจากสวนสดๆ รวมทั้งมีสถานที่ถ่ายรูปเช็กอิน หรือพักยังบ้านทรงไทย ล่าสุดทำ "ส้มตำอินทผลัม" ทั้งสายพันธุ์เหลืองบาฮี และแดงโคไนซี พร้อมเสิร์ฟปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า 8 ปี ถือเป็นเคล็ดลับพิเศษ และใช้มะละกอปลูกเอง ไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวนี้
“อดีตเคยลองผิดลองถูก ปลูกผลไม้มาแล้วมากกว่า 16 ชนิด ทั้ง มัลเบอร์รี, เงาะ, ทุเรียน, มะม่วง ฯลฯ แต่สุดท้ายต้องมาปลูกอินทผลัมเมื่อ 3-4 ปีก่อน ทุ่มเงินลงทุนหลักล้านบาทพัฒนาที่ดินนับร้อยไร่ ณ วันนี้นับว่าคุ้มค่า มีรายได้นับล้านเช่นกัน”
อย่างไรก็ตาม ตนได้ศึกษาพร้อมทำรายละเอียดข้อมูลต้นอินทผลัมทุกต้น นำมาสู่ "โมเดล 100 ต้น" กล่าวคือ อินทผลัม 1 ต้นจะให้ผลผลิต 100 กิโลกรัม (สูงสุดถึง 300 กิโลกรัม) หากปลูก 100 ต้น จะรวมผลผลิตได้ 10,000 กิโลกรัม คิดราคาจำหน่ายหน้าสวนกิโลกรัมละ 400 บาท ดังนั้นจะถือว่าเรามีรายได้ 4 ล้านบาทต่อปี หากขายส่ง ก็หารครึ่ง เหลือรายได้ 2 ล้านบาทต่อปี เฉลี่ยแล้วเกษตรกรมีรายได้เดือนละแสนกว่าบาท สามารถเลี้ยงตัวเองได้สบายๆ
ถามว่าจะต้องลงทุนเท่าใด กล่าวคือ ค่ากล้าพันธุ์ต้นละ 2,500 บาท (2.5 แสนบาท) ค่าปุ๋ยประมาณ 2 แสนบาทต่อ 100 ต้น คำนวณประมาณ 3 ปีกว่าผลผลิตจะออก ที่เหลือคือค่าระบบน้ำและอุปกรณ์ท่อน้ำต่างๆ และค่าแรงงาน กรณีคนในครอบครัวทำเองก็ไม่ต้องคิดค่าแรง
เชื่อว่ากระแสอินทผลัมไปได้อีก เพราะเป็นผลไม้มหัศจรรย์ คือมี "สารทานิน" ช่วยลดการอักเสบ (ร่างกาย), ลดความดัน เบาหวาน ลดไขมันอุดตันในเส้นเลือด มีน้ำตาลเชิงเดี่ยว กินแล้วให้พลังงานทันที ที่ "สวนอินทผลัมพิษณุโลก" ยังนำผลอินทผลัม ผ่านเครื่องบดละเอียดคั้นน้ำออกมาสดๆ ประมาณ 1 ขวด โดยไม่ต้องผสมอะไร ถือว่ามีประโยชน์ช่วยบำรุงสุขภาพ
นอกจากนี้ เนินมะปรางยังมีสวนอินทผลัมขนาดเล็กไม่ต่ำกว่า 5- 6 แห่ง เช่น “สวนอินทผลัมบัวเขียว” ต.ไทรย้อย อ.เนินมะปราง พิษณุโลก ซึ่งมีอยู่ประมาณเกือบ 30 ต้นกำลังให้ผลผลิต, สวนของนายจุมพล ลีศรี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 2 ไทรย้อย ที่ตัดโค่นต้นมะม่วงและปลูกอินทผลัมไว้ 26 ต้น ได้ผลผลิตและจำหน่ายจนหมดแล้ว ถือว่าสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว
ซึ่งเจ้าของสวนอินทผลัมทั้ง 2 สวนยืนยันว่ามีรายได้ดีกว่าพืชเศรษฐกิจตัวอื่น แม้หลายคนมองว่าอนาคตอาจล้นตลาด เนื่องจากมีพ่อค้าตระเวนรับซื้อผลอินทผลัมราคาถูกโดยไม่สนใจคุณภาพ นำไปเปิดท้ายกระบะดัมป์ราคา ทำให้เจ้าของสวนตัวจริงแทบกระอัก เนื่องจากอินทผลัมถูกจริงแต่รสชาติฝาด อนาคตก็ยิ่งทำให้ผู้บริโภคเมินหนี เลิกชิมอินทผลัมสดๆ ดีๆ คัดคุณภาพจากสวนแท้ๆ
ผู้ใหญ่จุมพลบอกว่า ไม่ต้องการเห็นอนาคตอินทผลัมเป็นเช่นนี้ แม้ว่าสวนของตัวเองได้ปลูกและจำหน่ายไปก่อนช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เรียกว่าคืนทุนไปแล้ว วันนี้ถ้าจะขายกิโลกรัมละ 100 บาทก็ยังอยู่ได้ แต่คนรุ่นหลังๆ จะอยู่ไม่ได้
ด้านอำเภอวังทอง ที่มีการลงทุนทำสวนอินทผลัมกันหลายรายนั้น ล่าสุดนายอัครโชค สุวรรณทอง นายอำเภอวังทอง และภรรยา ก็ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชม "ไร่อินทรัตน์”ของนายศุภชัย อินทรัตน์ อายุ 42 ปี อดีตพนักงานราชการตำแหน่งวิศวกรชลประทาน ตั้งอยู่เลขที่ 23/1 ม.21 ต.บ้านกลาง อ.วังทอง เป็น 1 ใน 3 ไร่ที่ปลูกอินทผลัมในพื้นที่อำเภอวังทอง ที่กำลังออกผล
นายอัครโชค สุวรรณทอง นายอำเภอวังทอง กล่าวว่า อำเภอฯ สนับสนุนปลูกอินทผลัมเพราะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สร้างรายได้แก่เกษตรกร ซึ่งทั้งอำเภอวังทองมีคนปลูกอินทผลัม 3 แห่ง คือที่ ต.หนองพระ ต.แก่งโสภา และ ต.บ้านกลาง โดย 'ไร่อินทรัตน์' เจ้าของไร่ไม่หวงความรู้ ทำให้หลายคนสนใจมาศึกษาและซื้อไปปลูกเป็นอาชีพได้ เพราะยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่ให้ผลผลิตและราคาดี อีกทั้งต่อยอดผลิตน้ำอินทผลัมสดและยังพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อีก
นายศุภชัย เจ้าของสวนอินทผลัมไร่อินทรัตน์ กล่าวว่า ที่สวนนอกจากจะมีน้ำอินทผลัมสดๆ จำหน่ายเพียงขวดละ 20 บาท อินทผลัมผลสดๆ ราคาเริ่มต้นกล่องละ 20-150 บาท หรือกิโลกรัมละ 300-5,000 บาทขึ้นอยู่กับสายพันธุ์แล้ว หากใครสนใจที่จะนำพันธุ์ไปปลูกก็มีหลากหลายสายพันธุ์ ราคาเริ่มต้น ต้นเล็กสูงประมาณ 1 ฟุตขึ้นไป ต้นละ 150-300 บาท ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ซึ่งล่าสุดตนปลูกไว้ทั้งหมด 30 สายพันธุ์ เช่น แดงอินเดีย, บาฮีเหลือง, บาฮีแดง, โคไนซี, แดงอียิปต์
“อินทผลัม” เป็นพืชที่คนหันมานิยมปลูกเรื่อยๆ และราคาจำหน่ายยังดีอยู่ สายพันธุ์เด่นที่ "ไร่อินทรัตน์" เพาะเมล็ด ถูกตั้งชื่อว่า แดงอินเดีย อาร์ศูนย์ (R.0) ซึ่งใช้วิธีผสมเกสรข้ามสายพันธุ์ จนได้อินทผลัมผลใหญ่ สีสด รสชาติหวานกรอบ ไม่มีรสฝาด ต้นเดียวราคา 4 หมื่นบาทถ้วนๆ ไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีต้นพันธุ์แดงอินเดีย (R.0) แยกเพศเมียเรียบร้อยแล้ว ราคาเพียงต้นละ 1,000 บาทขึ้นไป