เชียงใหม่ – อพท.ชวนสัมผัส..“เที่ยวชุมชนลวงเหนือ ดอยสะเก็ด เชียงใหม่” พิกัดนี้มีดีที่ "อัตลักษณ์ไทลื้อ" ที่อพยพย้ายถิ่นจากสิบสองปันนา มาตั้งแต่ปี พ.ศ.1932 ต่อยอดงานวิจัยสร้างมูลค่าเพิ่มจาก “วิถีไต” ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งสายมู-สายกรีน ฯลฯ มานานนับทศวรรษ การันตีด้วยหลากรางวัลระดับประเทศ
การท่องเที่ยวโดยชุมชน..เป็นหนึ่งในวิถีท่องเที่ยว ที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ ชนิดที่ว่าหากใครได้สัมผัสก็จะหลงรักและประทับใจ เพราะไม่ใช่แค่ความสะดวกสบาย หรือ ผลงานจากการเวิร์คชอป แต่ที่มากกว่านั้นคือรอยยิ้ม มิตรภาพ ความอบอุ่นในการต้อนรับและดูแลเสมือนคนในครอบครัว เหมือนลูกหลาน เพื่อนพี่น้อง ที่มาเยี่ยมเยือนกัน
เช่น บ้านลวงเหนือ ต.ลวงเหนือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่..วิสาหกิจชุมชนกลุ่มท่องเที่ยว “ชุมชนไตลื้อเมืองลวงเหนือ” เป็นชุมชนที่มีความโดดเด่นด้านอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ไทลื้อ เนื่องจากหมู่บ้านและชุมชนแห่งนี้มีประวัติศาสตร์ ความเป็นมายาวนาน กว่า 650 ปี ดั้งเดิมอาศัยอยู่ที่สิบสองปันนา สป.จีน ซึ่งได้อพยพย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านลวงเหนือ เมื่อปี พ.ศ. 1932
วันนี้..ไทลื้อบ้านลวงเหนือ เป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวแสนอบอุ่น ที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยการประพรมน้ำขมิ้นส้มป่อยเป็นสิริมงคล-พิชิตสิ่งชั่วร้ายตามความเชื่อของคนล้านนา จากนั้นก็พาชมเรียนรู้และสัมผัสวิถีชีวิตไทลื้อผ่านกิจกรรมหลากหลายและงานเวิร์คชอปที่สนุกสนานแปลกใหม่
รวมถึงการนำสักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ศูนย์รวมจิตใจของชาวไทลื้อบ้านลวงเหนือ คือ “วัดศรีมุงเมือง” และ “เสื้อบ้าน” ที่มีเรื่องเล่ามากมาย ตลอดจนการขอพรหรือโยนเหรียญเสี่ยงทาย ล้วนต้องถูกใจนักท่องเที่ยวสายมูเตลู
ถ้านักท่องเที่ยวสายเดินเที่ยวและชอบเรียนรู้ ได้ถ่ายรูปเช็คอิน ได้เยี่ยมชมเฮือนไตลื้อดั้งเดิม ได้ลองหีบเมล็ดฝ้าย-ตีฝ้ายและปั่นฝ้าย ก็เป็นประสบการณ์ใหม่ๆที่สนุกสนาน
ส่วนสายเวิร์คชอบ ก็จะได้สนุกกับการเจาะปรุทะลุลาย ใช้ภูมิปัญญานำผงถ่านคัดลอกลายบนถุงย่ามเก๋ไก๋สะพายใส่ของ หรือจะลองไปหมุนขวดพันด้ายหลากสี มีสมาธิกับการสลับสีสันไปมา ออกแบบวางลวดลาย ไม่นานก็ได้เป็นโคมไฟเส้นด้าย ซึ่งลายยอดฮิตก็ต้อง..“พญาลวง”
แต่ถ้าเป็นนักท่องเที่ยวสายเกษตร เที่ยวแบบ Green เพื่อสิ่งแวดล้อม ต้องไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสัมผัสกับท้องทุ่งนาธรรมชาติบ้านเย็นตา นาข้าวอินทรีย์ ที่มีโปรแกรมให้ได้ลองลุยโคลนโยนกล้าข้าว ฟังเรื่องราว “ข้าวก่ำพันธุ์ดั้งเดิมของไทลื้อสิบสองปันนา” ซึ่งมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ที่หอบหิ้วติดย่ามมาตอนอพยพย้ายถิ่นฐาน รวมไปถึง “ข้าวแก้ว” ที่คล้ายข้าวญี่ปุ่น นำมาทำเป็นซูชิได้ด้วย ยังมีข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวดอกมะลิ 105 ข้าวทับทิมชุมแพ ทุกเมล็ดเป็นข้าวเกษตรอินทรีย์ หรือจะไปเที่ยวทุ่งนา เที่ยวสวน เก็บไข่เป็ด หาปลา เก็บผัก ทำอาหารอย่างสนุกสนานท่ามกลางทุ่งนาฟ้ากว้าง ที่รับรองได้ว่า..เหมือนตั้งแคมป์ตากอากาศบ้านเพื่อน เพราะความเป็นกันเอง
อีกหนึ่งความน่ารักตลอดการท่องเที่ยวในชุมชน คือ สำเนียงเสียงเจื้อยแจ้วแบบภาษาไทลื้อของนักสื่อความหมายของชุมชน ที่ตั้งใจนำเสนออัตลักษณ์ชาวไทลื้อด้วยความภาคภูมิใจ มีเรื่องเล่าเรื่องราวถ่ายทอดอย่างน่าสนใจ รวมถึงการจัด “กาดหมั้วครัวลื้อ” ที่นำอาหารชาติพันธุ์มาให้นักท่องเที่ยวได้ทดลองลงมือทำและชิม
ซึ่งมีทั้ง “ผามข้าวแคบที่โดดเด่น”เป็นข้าวแคบที่ทำจากข้าวก่ำไทลื้อลวงเหนือ มีความหอมเฉพาะตัว ที่แปลกและสะดวกคือไม่ต้องย่าง ไม่ต้องทอด นำเข้าไมโครเวฟก็ได้ชิมข้าวแคบหอมอร่อย เป็นสินค้าส่งขายทำรายได้ให้ชุมชน นอกจากนี้ยังมี “ผัดไทไตลื้อ โซ๊ะบ่าก้วยเต้ด หรือส้มตำไทลื้อ ไข่ป่าม ขนมวง ข้าวจี่ ข้าวหมี่ ข้าวเงี้ยว ฯลฯ
และอีกหนึ่งโปรแกรมที่แสนประทับใจก็คือ ชาวชุมชนแต่งชุดไทลื้อ ยก “โตกหลวง”กับอาหารพื้นเมืองแสนอร่อย เสิร์ฟพร้อมกับการขับกล่อมด้วยดนตรีพื้นเมือง-การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ท้ายที่สุดคือการจุดเทียนแสงแห่งศรัทธาอำลากันด้วยความรักและคิดถึง
นางพรรษา หรือ “แม่ปุก” บัวมะลิ นักสื่อความหมายบ้านลวงเหนือ บอกเล่าความภูมิใจที่บ้านลวงเหนือ มีนักท่องเที่ยวคิดถึงแวะเวียนมาเที่ยวหาเยี่ยมเยือนกันตลอดกว่า 10 ปี ว่าเริ่มต้นจากฐานงานวิจัย เมื่อปี พ.ศ.2555 มีหลายหน่วยงานมาเป็นทีมพี่เลี้ยง ทั้งสถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานพัฒนาชุมชน และเทศบาลตำบลลวงเหนือ สนับสนุนให้ชุมชนทำโฮมสเตย์
และเมื่อมีปัญหาอุปสรรค ชุมชนก็เรียนรู้ พูดคุย-ปรับตัวกัน จนพัฒนายกระดับเป็นหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยวและเป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยว ได้ “รางวัลต้นแบบชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม” ของกรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและกีฬา “รางวัลชุมชนช่างคิด” ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เมื่อปี 2559 “รางวัลชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม” ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เมื่อปี 2560 “รางวัลมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย” ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปี 2561 ล่าสุดคือ “รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย หรือ รางวัลกินรี ระดับยอดเยี่ยม สาขาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ปี 2564”
ซึ่งทุกรางวัล เกิดจากความตั้งใจและทุ่มเทของคนในชุมชนที่ช่วยกันรื้อฟื้นและรักษาอัตลักษณ์ไทลื้อ เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม เป็นความภาคภูมิใจของไทลื้อเมืองบ้านลวงเหนือ
นางสาวมยุรี ศรีสุริยพงศ์ และ นายสฐิรพงศ์ มหาวงศนันท์ เจ้าหน้าที่พัฒนาพื้นที่พิเศษ อพท.6 เปิดเผยว่า องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้เข้ามาช่วยพัฒนาเสริมศักยภาพด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้กับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนไตลื้อลวงเหนือ ทั้งด้านองค์ความรู้ การออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวให้สอดคล้องและเหมาะสมกับนักท่องเที่ยวและบริบทชุมชน การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้อย่างกว้างขวาง รวมทั้งการจัดกิจกรรมทดลองท่องเที่ยวโดยชุมชน (Product testing) เพื่อเชื่อมโยงผู้ประกอบการและหน่วยงานด้านการท่องเที่ยว สถาบันการศึกษา บริษัทนำเที่ยว สื่อมวลชนและชาวบล็อกเกอร์ เพื่อร่วมกันให้คำแนะนำการพัฒนากิจกรรมและผลิตภัณฑ์ให้กับกลุ่มด้วย
สำหรับนักท่องเที่ยวสนใจไปเรียนรู้อัตลักษณ์วิถีไทลื้อเมืองบ้านลวงเหนือ สามารถติดต่อได้ที่นางสาวพันธ์ชนก บัวมะลิ หรือน้องสร้อย ผู้ประสานงานชุมชน เลขที่ 142 หมู่ 4 บ้านลวงเหนือ ต.ลวงเหนือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ https://www.facebook.com/CBTTaiLueLuangnue