ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - เปิดสวน “อินทผลัมโคราช” พลิกเปลี่ยนไร่มันฯ 40 ไร่ ปลูกอินทผลัมแห่งแรกของจ.นครราชสีมา กลายเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่มาแรงแห่งยุคสร้างรายได้ปีละกว่า 2 ล้าน เผยสมาคมผู้ปลูกฯ เร่งผลักดันรัฐบรรจุอินทผลัมเป็นพืชปลูกได้ในประเทศไทย เพื่อยกระดับขยายตลาดส่งออกต่างประเทศ
วันนี้ (20 ก.ค.) ที่สวนอินทผลัมโคราช เลขที่ 261 หมู่ที่ 13 หมู่บ้านอ่างห้วยยาง ต.ธงชัยเหนือ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา นายประทิน อภิชาตเสนีย์ เจ้าของสวนอินทผลัมโคราช เกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพทำสวน และอุปนายกสมาคมผู้ปลูกอินทผลัม ได้นำคณะเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมสวนอินทผลัมที่กำลังออกผลผลิตจำนวนมากในเวลานี้ ปีนี้ให้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ
นายประทิน อภิชาตเสนีย์ เจ้าของสวนอินทผลัมโคราช เกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพทำสวน และอุปนายกสมาคมผู้ปลูกอินทผลัม เปิดเผยว่า สวนอินทผลัมโคราชตั้งอยู่บนพื้นที่ 40 ไร่ เป็นของตนเองและญาติพี่น้อง ปลูกอินทผลัมรวมจำนวน 1,000 ต้น โดยเป็นสวนอินทผลัมสวนแรกของจังหวัดนครราชสีมา จากเดิมเป็นพื้นที่ดังกล่าวปลูกมันสำปะหลังมาก่อน กระทั่งปี 2554 จึงหันมาปลูกอินทผลัมด้วยการเพาะเมล็ดแต่เนื่องจากผลผลิตไม่ดีและกลายพันธุ์รสชาติไม่ดี จึงเปลี่ยนมาปลูกจากต้นพันธุ์ที่เพาะเนื้อเยื่อพันธุ์บาฮี ทั้งหมดในปี 2559 เหลือต้นพ่อพันธุ์ไว้ประมาณ 4-5 ต้นเท่านั้น การให้น้ำจะใช้ระบบสปริงเกอร์เพื่อให้กระจายให้ทั่ว โดยสวนอินทผลัมโคราชเป็นสวนปลอดสารเคมี ก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตระยะเวลา 3 เดือนจะไม่มีการใช้สารเคมีอย่างเด็ดขาด อินทผลัมที่สวนจึงสามารถเด็ดจากต้นกินได้เลย
สำหรับความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของอินทผลัมที่นี่คือ “หวาน กรอบ อร่อย ปลอดภัยจากสารเคมี” ศัตรูสำคัญคือ ด้วงงวง และเชื้อรา หากแดดไม่ดีน้ำไม่ถึงก็จะทำให้ผลผลิตออกมาไม่สมบูรณ์เต็มที่ แต่ปีนี้ถือว่าผลผลิตดีระดับหนึ่ง เพราะฝนตกมาก ซึ่งอินทผลัมจะทยอยสุกและเริ่มตัดขายได้ตั้งแต่กลางเดือน ก.ค.-ส.ค. คาดว่าในปีนี้จะสร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท ราคาขายหน้าสวนอยู่ที่ กก.ละ 200-300 บาท ตลาดหลักคือเปิดขายหน้าสวน ซึ่งจะมีประชาชนและนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวชมสวนเพราะภายในสวนจะมีร้านกาแฟ มีจุดให้ถ่ายรูปหลายจุด อีกช่องทาง คือขายผ่านออนไลน์ และส่งขายที่ตลาดไทยก่อนกระจายไปทั่วประเทศ
นายประทินกล่าวต่อว่า ขณะนี้เกษตรกรหันมาปลูกอินทผลัมเป็นจำนวนมาก คาดว่าทั้งประเทศปัจจุบันมีผลผลิตต่อปีไม่ต่ำกว่า 3,000 ตัน หรือประมาณปีละ 300 ล้านบาท แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นแก่เกษตรกรคือด้านการขยายตลาด เนื่องจากอินทผลัมเป็นพืชที่ยังไม่ได้รับการบรรจุให้เป็นพืชที่ปลูกในประเทศไทยได้ ซึ่งมีผลต่อการส่งออกและการขยายตลาดสู่ต่างประเทศ
"ขณะนี้ทางสมาคมผู้ปลูกอินทผลัมที่มีสมาชิกอยู่ทั่วประเทศกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการในเรื่องการผลักดันให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์บรรจุให้อินทผลัมเป็นพืชปลูกได้ในประเทศไทย เพื่อให้อินทผลัมส่งออกขายในต่างประเทศได้ จะเป็นการสร้างโอกาสที่ดีให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกอินทผลัมได้มีโอกาสขยายตลาดไปสู่ประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือในกลุ่มประเทศอาเซียน ทราบว่าขณะนี้ทางกระทรวงเกษตรฯ ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาเรื่องดังกล่าวแล้ว คาดว่าในเร็วๆ นี้น่าจะได้คำตอบ" นายประทินกล่าว
ด้าน นางอรณัส การสรรพ์ เกษตรอำเภอปักธงชัย เปิดเผยว่า ขณะนี้เกษตรกรหันมาปลูกอินทผลัมมากขึ้น หากมองเรื่องการตลาดนำการผลิต ขณะนี้เกษตรกรประสบปัญหาเรื่องการตลาด เนื่องจากผลผลิตที่ออกมาทั้งหมดจำหน่ายได้เฉพาะในประเทศเท่านั้น หากมีการบรรจุให้อินทผลัมเป็นพืชที่ปลูกได้ในประเทศไทย จะเป็นการสร้างโอกาสที่ดีให้แก่เกษตรกรเพราะขณะนี้ผลผลิตของเกษตรกรพร้อมแล้วในทุกด้าน ทั้งคุณภาพและปริมาณการผลิตมีศักยภาพในการส่งออก ฉะนั้นจึงอยากฝากท่านผู้ใหญ่ได้ช่วยดำเนินการผลักดันให้เป็นรูปธรรมเพื่อเกษตรกรจะได้เดินหน้าต่อไป