จันทบุรี - ผวจ.จันทบุรี ประชุมร่วมหลายหน่วยงานวางแผนรับมือผลผลิตลำไยออกสู่ตลาดช่วงปลายปี กำชับชาวสวนดูแลเข้มปัญหาเพลี้ยแป้งราดำ โควิด-19 ก่อนนำผลผลิตส่งออก สร้างมาตรฐานที่ดี รักษาตลาดปลายทาง ดันราคาไม่ตก ด้านชาวสวนเฮรัฐเปิดทางนำแรงงานเข้าเก็บลำไย
เมื่อเร็วๆ นี้ นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี พร้อมด้วย นายระพีพัฒน์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประชุมร่วมผู้ประกอบการล้งลำไยใน จ.จันทบุรี เพื่อหารือถึงกติกาในการทำงานและการรับซื้อลำไยจันทบุรี ที่กำลังจะออกสู่ตลาดจำนวนมากในปีนี้ โดยมี ดร.รัฐวิทย์ ตั้งเกียรติพชร นายกสมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา นำภาคเอกชนในพื้นที่เข้าร่วม
ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ได้เน้นย้ำให้เกษตรกรชาวสวนลำไย และทุเรียน รวมถึงผลไม้อื่นๆ ในพื้นที่ต้องผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ และให้ความสำคัญในการดูแลผลผลิตไม่ให้มีเพลี้ยแป้งราดำ หรือเชื้อโรคอื่นๆ ปะปนไปกับผลไม้
นอกจากนั้น จังหวัดจันทบุรียังได้กำหนดมาตรการสำคัญให้ชาวสวนในพื้นที่ต้องมี GAP ส่วนผู้ประกอบการล้งจะต้องได้รับอนุญาตดำเนินการ รวมทั้งแรงงานจะต้องผ่านขั้นตอนการทำงานในประเทศที่ถูกต้องและต้องผ่านการตรวจหาเชื้อโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง
"คนงานและทุกกระบวนการในการส่งผลผลิตลำไย และผลไม้ต่างๆ ออกขายในต่างประเทศจะต้องให้ความสำคัญเรื่องการป้องกันไม่ให้มีเชื้อโควิด-19 ปะปนไปกับผลผลิต ไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดปัญหาเรื่องการส่งออกทุเรียน ซึ่ง จ.จันทบุรี ขอยืนยันว่ากติกาที่ทางจังหวัดกำหนดออกมาเพื่อผลไม้คุณภาพ ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตที่เกิดจากชาวสวน ไปจนถึงกระบวนการส่งออก ซึ่งแม้อาจยุ่งยาก แต่หากปฏิบัติตามย่อมเกิดผลดีแน่นอน" ผู้ว่าราชการ จ.จันทบุรี กล่าว
ขณะที่ นายระพีพัฒน์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยว่า กรมวิชาการเกษตร ได้มอบหมายให้หน่วยงานในพื้นที่ทั้ง สวพ.6 (สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร) รวมถึงด่านตรวจพืชจันทบุรี เข้มงวดการตรวจสอบขั้นตอนการส่งออกผลไม้ (ตรวจสอบผลผลิตก่อนส่งออก) อย่างเข้มข้น เพื่อไม่ให้ผลผลิตถูกติง หรือมีปัญหาที่ประเทศปลายทาง และจะทำการตรวจสอบเข้มข้นกับล้งส่งออก เช่นเดียวกับทุเรียน
เช่นเดียวกับ ดร.รัฐวิทย์ ตั้งเกียรติพชร นายกสมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา เผยว่า ภาคเอกชนมีความพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐเรื่องการควบคุมคุณภาพผลผลิตลำไยในทุกขั้นตอน และปีนี้ได้รับความกรุณาจากรัฐบาล เรื่องการนำเข้าแรงงานเข้าเก็บผลไม้จึงเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องแรงงาน
"แต่แรงงานที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ในสถานประกอบการด้วยเช่นกันเพราะเราอยากให้การแก้ปัญหาลำไยประสบผลสำเร็จเหมือนเรื่องของทุเรียน เพราะจะทำให้ราคาไม่ตก และมีความต้องการอยู่ตลอดเวลา" ดร.รัฐวิทย์ กล่าว
ด้าน นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการ สวพ.6 บอกว่า จากนี้ไป สวพ.6 จะเร่งออกให้บริการนอกสถานที่กับผู้ประกอบการล้งลำไย ทั้งเรื่องวิชาการและเอกสารที่ต้องใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกตามข้อสั่งการของอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ซึ่งออกให้บริการแล้ว 2 ครั้งและหากผู้ประกอบการมีความต้องการขอรับบริการ ขอให้รวมกลุ่มและนัดวัน เวลา สถานที่มา เพื่อง่ายในการทำงาน
"ในปีที่ผ่านมาเราได้รับการร้องเรียนจากชาวสวนว่าผู้ประกอบการบางรายตกลงซื้อลำไยไว้แต่ไม่มาตัด หรือบางรายวางมัดจำแต่ตัดไม่หมด ทำให้ชาวสวนเสียหายเพราะไม่รู้จะไปขายให้ใคร ในวันนี้ภาครัฐจึงขอให้ชาวสวนทำสัญญารับซื้อกับล้งให้ชัดเจน เพราะหากเกิดปัญหาจะได้ฟ้องร้องดำเนินคดีกันได้" นายชลธี กล่าว
ส่วนตัวแทนผู้ประกอบการล้งได้เสนอปัญหาต่อที่ประชุมโดยขอร้องให้ภาครัฐเข้มงวดในการกำกับดูแลชาวสวนป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเพลี้ยแป้งราดำ เพราะเมื่อเก็บลำไยส่งล้งแล้วกระบวนการคัดแยกทำได้ยาก ดังนั้น หากจะให้เกิดผลดีที่สุดคือจะต้องเข้มงวดตรวจสอบตั้งแต่ต้นทาง คือระหว่างการเก็บผลผลิตจากสวน
ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี พบว่า จ.จันทบุรี มีพื้นที่ปลูกลำไยเป็นจำนวนมาก และคาดว่าปริมาณผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดในปีนี้น่าจะไม่น้อยกว่า 300,000 ตัน ขณะที่ช่วงเดือน ส.ค.จะเป็นช่วงที่ผลผลิตเริ่มออก และจะมีมากที่สุดในเดือน พ.ย.-ธ.ค.