อุดรธานี - สำนักงานพาณิชย์กลุ่มจังหวัดภาคอีสานนำสื่อเยี่ยมชมกลุ่มปั้นหม้อเขียนสีลายบ้านเชียงที่ อ.หนองหาน ซึ่งเป็นสินค้าขึ้นทะเบียน GI "1 ใน 18 แห่งของดีอีสาน มาตรฐานโลก" หวังช่วยเผยแพร่โปรโมตให้เป็นที่รู้จักของตลาดกลุ่มเป้าหมายทั้งใน และต่างประเทศ
ณ ศูนย์เรียนรู้ “กลุ่มปั้นหม้อเขียนสี” ต.บ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี นายประเสริฐ ฝ่ายชาวนา พาณิชย์ จ.อุดรธานี พร้อมด้วยนางเกศินี พวงประดิษฐ์ พาณิชย์ จ.สกลนคร ในนามสำนักงานพาณิชย์กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เดินทางมาเยี่ยมชมและดูการปั้นหม้อเขียนสีลายบ้านเชียงที่โดดเด่นในเรื่องของลวดลาย และเป็นหนึ่งในสินค้า GI ของภาคอีสานที่ได้รับการคัดสรรสินค้าขึ้นทะเบียน
โดยมองเห็นว่ามีศักยภาพทางการตลาด ทางหน่วยงานรัฐฯ พร้อมสนับสนุนเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ในการสร้างโอกาสทางการค้า ทั้งผ่านสื่อออฟไลน์และออนไลน์ ให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายทั้งในประเทศ และระดับสากล
ศูนย์เรียนรู้กลุ่มปั้นหม้อเขียนสีบ้านเชียง ปัจจุบันมี นายชาตรี ตะโจปะรัง เป็นประธานกลุ่มฯ และชาวบ้านใน ต.บ้านเชียง จัดตั้งกลุ่มปั้นหม้อลายบ้านเชียงและมีลูกปัดส่งขายให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ สำหรับเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง GI จ.อุดรธานี เป็นหนึ่งในสินค้าที่โดดเด่นของภาคอีสาน 18 แห่ง ภายใต้ชื่อ “GI ของดีอีสาน มาตรฐานโลก”
นายประเสริฐ ฝ่ายชาวนา พาณิชย์ จ.อุดรธานี เปิดเผยว่า สินค้า GI ที่โดดเด่นของภาคอีสาน 18 แห่ง ภายใต้ชื่อ “GI ของดีอีสาน มาตรฐานโลก” ประกอบด้วยสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป เครื่องปั้นดินเผา และผ้าทอมือ เช่น ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ GI จ.นครราชสีมา, ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ GI จ.ศรีสะเกษ, ข้าวเหนียวเขาวงกาฬสินธุ์ GI จ.กาฬสินธุ์, น้ำหมากเม่าสกลนคร GI จ.สกลนคร, กล้วยตากสังคม GI จ.หนองคาย เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง GI จ.อุดรธานี เป็นต้น
สำหรับวัฒนธรรมบ้านเชียงนั้นครอบคลุมหลายพื้นที่ในภาคอีสาน ทั้งในเขต จ.อุดรธานี สกลนคร นครพนม และขอนแก่น โบราณวัตถุที่พบมากที่สุด ได้แก่ ภาชนะดินเผา รองลงมาคือ เครื่องประดับและขวานสำริด นอกจากนี้ยังพบโครงกระดูกของมนุษย์และสัตว์อีกด้วย
ส่วนภาชนะดินเผามีเอกลักษณ์ที่รูปแบบและลวดลาย และเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงของ จ.อุดรธานี แหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่มีอายุกว่า 4,000 ปี เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โดยในสมัยแรกลวดลายที่ทำเกิดจากการใช้เชือกทาบหรือใช้วัสดุกดทับเพื่อให้เกิดลวดลายบนภาชนะ จนพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน มีการตกแต่งสีสันมากขึ้น และนำมาวาดเป็นลวดลายที่ปรากฏเป็นรูปคน สัตว์และลายก้นหอย ลายเรขาคณิต จนเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงได้รับการรับรองมาตรฐานและขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GIX) โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เป็นเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง GI ของ จ.อุดรธานีที่ได้ขึ้นทะเบียนในปี พ.ศ. 2552
สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมบ้านเชียง สามารถแวะดูวิถีชีวิตการปั้นหม้อและร้อยลูกปัดได้ที่ศูนย์เรียนรู้กลุ่มปั้นหม้อเขียนสี หมู่ 13 บ้านพิพิธภัณฑ์ ต.บ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี หมายเลขโทรศัพท์ 08-9421-0068 ได้ตลอดเวลา