ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม ร่วมกับนักวิจัยคณะเศรษฐศาสตร์ และวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น ม.ขอนแก่น ศึกษาวิจัยประเด็น “หมอลำกับเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพของคนอีสาน” จำลองผลการศึกษาเสมือนจริง ผ่านกิจกรรม งาน The Soft Power of Molam 4.0 เผยหมอลำเป็นศิลปะท้องถิ่นอันทรงคุณค่า ต้องปรับรูปแบบการแสดงให้เข้ากับยุคสมัยและเทคโนโลยีถึงจะอยู่รอดและแข่งขันได้ในอนาคต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม ร่วมกับนักวิจัยคณะเศรษฐศาสตร์ และวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ดำเนินโครงการวิจัยในประเด็น “หมอลำกับเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพของคนอีสาน” ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานคนไทย 4.0 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โดยคณะผู้ดำเนินโครงการวิจัยได้จัดกิจกรรมงาน The Soft Power of Molam 4.0 ขึ้นที่ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก ม.ขอนแก่น โดยเชิญวงหมอลำชื่อดัง “ระเบียบวาทะศิลป์” มาแสดงภายใต้การออกแบบการแสดงโชว์บนเวทีรูปแบบใหม่ เป็นตัวอย่างของการดำเนินธุรกิจหมอลำที่ปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อคงธุรกิจให้น่าสนใจและสามารถอยู่รอดได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน
รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ม.ขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมที่เป็นทุนทางวัฒนธรรม เพื่อใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยศูนย์ศิลปวัฒนธรรม และนักวิจัยคณะเศรษฐศาสตร์ และวิทยาลัยการปกครองส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมมือกันดำเนินโครงการวิจัย เรื่อง “หมอลำกับเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพของคนอีสาน” ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานคนไทย 4.0 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวัฒนธรรมการแสดงพื้นบ้านของภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือหมอลำในห้วงที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และการปรับเปลี่ยนเชิงธุรกิจของหมอลำเพื่อให้อยู่รอดในสังคมปัจจุบัน รวมถึงการวิเคราะห์ความต้องการของผู้ชมหมอลำ และนำมาปรับใช้ในการออกแบบการให้บริการ และการดำเนินธุรกิจหมอลำเพื่อให้สามารถแข่งขัน และต่อยอดจนสามารถเป็น soft power ให้ได้ในอนาคต
การจัดงานแสดงดังกล่าวถือเป็นการเผยแพร่ผลการศึกษาในรูปแบบใหม่ โดยจำลองผลการศึกษาเสมือนจริง และใช้วงหมอลำมืออาชีพวงหลักอย่าง วงระเบียบวาทะศิลป์ ในการร่วมแสดงหมอลำแบบใหม่ ที่ต่อยอดจากการศึกษาวิจัย โดยมุ่งให้ผู้ร่วมงานเห็นภาพ และสร้างผลกระทบในมุมกว้าง และเกิดแรงบันดาลใจในการยกระดับหมอลำให้สามารถเป็น soft power ได้ในอนาคต
ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แสดงความเห็นต่อการจัดงาน The Soft Power of Molam 4.0 ระเบียบวาทะศิลป์ เป็นการเผยแพร่ผลการศึกษาโครงการหมอลำกับเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพของคนอีสาน ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งในการศึกษาวิจัยในมิติทางด้านวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ เพื่อก่อให้เกิดนวัตกรรมมิติใหม่ที่สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาหมอลำสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และต่อยอดการเป็น soft power ของทุนวัฒนธรรมอีสานสู่สากล
“ถือเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงในการต่อยอดองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย ขอให้การศึกษาวิจัยประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้” ดร.ดนุชกล่าว
สำหรับโครงการวิจัย เรื่อง “หมอลำกับเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพของคนอีสาน” สามารถนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาไปใช้ประโยชน์ โดยคณะผู้วิจัยได้นำต้นแบบการแสดงที่เหมาะกับกลุ่มผู้ชมเดิม และสร้างความต้องการใหม่ (new demand) ถ่ายทอดให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมหมอลำ ได้แก่ ผู้บริหารคณะหมอลำ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านออกแบบการแสดง ผู้เชี่ยวชาญทางด้านดนตรี ผู้เชี่ยวชาญทางด้านวัฒนธรรม และผู้มีอิทธิพลทางสื่อโซเชียลเกี่ยวกับหมอลำ เพื่อเป็นแนวคิดในการออกแบบรูปแบบการแสดงของคณะหมอลำในฤดูกาลปี 2565-2566
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะให้คณะหมอลำประยุกต์ใช้ดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่มาปรับใช้กับการจัดแสดงด้วย เพื่อให้เกิดความสะดวกแก่ผู้ชมหมอลำในยุคปัจจุบันให้มากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น การถ่ายทอดสดการแสดง (Live Streaming) ควบคู่กับการแสดงหน้าเวที การเปิดจำหน่ายตั๋วล่วงหน้าทางออนไลน์เพื่อให้สะดวกต่อการรับชมหน้าเวทีมากขึ้น
รวมไปถึงการนำเทคนิคเเละนวัตกรรมมาต่อยอดเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ เช่น การใช้ Studio ถ่ายทำ หรือการทำภาพสามมิติในการแสดงหมอลำซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการต่อยอด นอกจากการแสดงหน้าเวทีอย่างเดียว
ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะนำไปสู่การปรับรูปแบบการให้บริการ และการดำเนินธุรกิจหมอลำเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในอนาคต.