เชียงราย - รมว.วัฒนธรรม พร้อมพระ ว.วชิรเมธี อาจารย์เฉลิมชัย นำทีมศิลปินเชียงรายวางศิลาฤกษ์เดินหน้าสร้างหอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย เต็มรูปแบบมูลค่าไม่ต่ำกว่า 100 ล้าน เตรียมรับงานมหกรรมศิลปะนานาชาติปี 2566 หรือ Thailand Biennale Chiangrai 2023
วันนี้ (3 ก.ค. 65) นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.กระทรวงวัฒนธรรม ได้เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างหอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย หรือ International Art Museum ที่จะก่อสร้างบนพื้นที่ประมาณ 16 ไร่ บ้านสันตาลเหลือง หมู่ 1 ต.ริมกก อ.เมืองเชียงราย
โดยพระเมธี วชิโรดม (ว.วชิรเมธี) จากไร่เชิญตะวัน จ.เชียงราย อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงรายผู้ริเริ่มก่อสร้างหอศิลป์แห่งนี้ อาจารย์สุวิทย์ ใจป้อม นายกสมาคมขัวศิลปะ พร้อมทั้งศิลปินชาวเชียงราย ร่วมในพิธีวางแท่นศิลาฤกษ์ ประพรมน้ำมนต์ โปรยดอกไม้สด ฯลฯ ท่ามกลางความปลื้มปีติของทุกฝ่าย เนื่องจากสถานที่แห่งนี้จะใช้เป็นแหล่งรวมผลงานทางศิลปะของศิลปินชาวเชียงรายอย่างถาวรเป็นแห่งแรก และรองรับงานมหกรรมศิลปะนานาชาติในปี 2566 หรือ Thailand Biennale Chiangrai 2023
หลังพิธีวางศิลาฤกษ์อาจารย์เฉลิมชัยยังได้นำคณะเปิดตัวธง "Thailand Biennale Chiangrai 2023" ที่ศิลปินชาวเชียงรายได้ร่วมกันจัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ในการจัดงาน โดยจะแบ่งธงไปติดตั้งตามจุดต่างๆ ทั้ง 18 อำเภอของเชียงราย รวมทั้งสถานที่สำคัญ เช่น ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ขัวศิลปะ ฯลฯ เพื่อประชาสัมพันธ์การจัดงาน
ขณะที่ก่อนหน้านี้คณะผู้ทรงคุณวุฒิในการจัดงานได้มีการคัดเลือกผลงานทางศิลปะของศิลปินชาวเชียงรายที่ได้มีการออกแบบผลงานเป็นสัญลักษณ์การจัดงาน Thailand Biennale Chiangrai 2023 ไปจัดแสดง ณ หอศิลป์แทนคุณ วัดร่องขุ่น ตั้งแต่ปัจจุบันไปจนถึงเดือน ธ.ค. 2565 นี้ จำนวน 73 ผลงานอีกด้วย
นายภาสกรกล่าวว่า ตอนนี้เชียงรายถือว่ามีความพร้อมทุกด้านในการจัดงาน โดยเฉพาะเรื่องศิลปินและผลงานที่มีเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีความพร้อมในการต้อนรับผู้ที่ชื่นชอบงานศิลปะและนักท่องเที่ยว เห็นได้จากธง "Thailand Biennale Chiangrai 2023" ที่ศิลปินได้จัดทำออกมาจนสำเร็จครบถ้วน ดังนั้นในปี 2566-2567 จะเป็นช่วงที่ชาวเชียงรายจะได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพอย่างภาคภูมิใจ
สำหรับการจัดงานศิลปะนานาชาติ Thailand Biennale จัดขึ้นในประเทศไทยครั้งแรกที่ จ.กระบี่ ระหว่างวันที่ 2 พ.ย. 2561-28 ก.พ. 2562 จากนั้นได้จัดขึ้นที่ จ.นครราชสีมา ระหว่างวันที่ 18 ธ.ค. 2564-31 มี.ค. 2565 ต่อมารัฐบาลนำโดยกระทรวงวัฒนธรรมก็เลือก จ.เชียงราย ในการจัดงาน อาจารย์เฉลิมชัยจึงนำศิลปินจัดหาสถานที่สร้าง "หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย" เพื่อรองรับการจัดงาน
กระทั่งนายทวีชัย อร่ามรัศมีกุล เศรษฐีเจ้าของที่ดินในพื้นที่หมู่บ้านสันตาลเหลืองซึ่งใกล้ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ได้ยกที่ดินให้ อาจารย์เฉลิมชัยจึงได้ใช้เงินทุนจากการจำหน่ายภาพทำการถมดินและระดมทุนก่อสร้างอาคารด้วยงบประมาณเฉพาะโครงสร้าง 27 ล้านบาท แต่การก่อสร้างที่สมบูรณ์คาดว่าจะใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาท เพื่อให้ในอนาคตจะเป็นสถานที่จัดแสดงผลงานทางศิลปะ มีหมู่บ้านศิลปิน Art Village เบื้องต้นจำนวน 32 หลัง ฯลฯ และกลายเป็นสถานที่อันทรงคุณค่าทางศิลปะและแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญต่อไป