จากกรณีที่ด่านตรวจพืชมุกดาหาร ได้สกัดรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 2 คัน ที่กำลังนำทุเรียน จำนวน 2 ตู้คอนเทนเนอร์เตรียมส่งขายประเทศจีน หลังพบความผิดปกติหลายอย่าง เช่น ทุเรียนบรรจุไม่เต็มตู้ และยังมีทุเรียนด้อยคุณภาพอย่างรุนแรงจนต้องตีกลับมายังล้งต้นทางใน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี
โดยเชื่อว่าเป็นการกระทำของขบวนการนำทุเรียนด้อยคุณภาพจากประเทศเพื่อนบ้านสวมสิทธิทุเรียนไทยส่งขายต่างประเทศนั้น
นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 (สวพ.6) กรมวิชาการเกษตร ให้ข้อมูลว่าขบวนการสวมดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อราว 3 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่ทุเรียนในประเทศไทยมีราคาขายเกิน 100 บาทต่อกิโลกรัม จากกระแสนิยมการบริโภคที่เพิ่มมากขึ้น
และในครั้งนั้นเริ่มมีการตรวจพบว่าผู้ประกอบการบางรายนำทุเรียนจากประเทศเวียดนาม เข้ามาสวมเป็นทุเรียนไทยด้วยการขนส่งข้ามแดนทางบกที่ จ.จันทบุรี เนื่องจากพื้นที่ปลูกทุเรียนของเวียดนามอยู่ทางตอนใต้ และสามารถนำใส่รถย้อนเข้าไทยด้วยการข้ามแดน
แต่ยังพบข้อมูลในทางลับอีกว่า ทุเรียนที่นำเข้าจากประเทศเวียดนามเคยถูกขนข้ามแดนผ่าน จ.สระแก้ว และตราด แต่ภายหลังถูกทางการตรวจสอบมากขึ้น ผู้ประกอบการเห็นแก่ได้จึงเปลี่ยนวิธีการขอนำเข้าทุเรียนทางเรือเพื่อการแปรรูป เนื่องจากกฎหมายอนุญาตให้เฉพาะนำทุเรียนต่างแดนมาใช้เพื่อการแปรรูปได้เท่านั้น จึงถือเป็นช่องว่างสำคัญที่ทำให้คนบางกลุ่มฉวยโอกาส
อีกทั้งการตรวจสอบยังทำได้ค่อนข้างยากหากสายข่าวไม่แม่นพอ เพราะผู้ประกอบการ (บางราย) ที่จ้องจะกระทำการในลักษณะดังกล่าวจะใช้วิธีสวมสิทธิทุเรียน หรือเปลี่ยนทุเรียนในช่วงกลางคืน
“เราเคยได้เบาะแสมาครั้งหนึ่งว่ามีการนำทุเรียนเข้ามาสวมสิทธิเป็นทุเรียนไทยที่ล้งแห่งหนึ่ง แต่เมื่อเข้าตรวจสอบกลับไม่เจอทุเรียนที่ถูกนำเข้ามาจากประเทศเวียดนาม และพบเพียงกล่องบรรจุที่เป็นของเวียดนาม แต่ไม่สามารถเอาผิดผู้ประกอบการรายดังกล่าวได้”
นายชลธี ยังเผยอีกว่า ยิ่งในช่วงที่ทุเรียนของไทยโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเริ่มหมดฤดูเก็บผลผลิต ยิ่งทำให้มีการนำทุเรียนเข้าสวมสิทธิมากขึ้น ซึ่งหลังจากนี้หน่วยงานในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งตรวจสอบให้เข้มงวด เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทุเรียนในภาพรวมของไทย
เช่นเดียวกับ นายณัฐกฤษฎ์ โอฬารหิรัญรักษ์ รองนายกสมาคมการค้าธุรกิจเกษตรไทย-จีน เผยว่า สาเหตุใหญ่ของการนำทุเรียนอื่นมาสวมสิทธิเป็นทุเรียนไทย เป็นเพราะทุเรียนต่างประเทศมีราคาถูกกว่าทุเรียนไทยเกือบครึ่ง ซึ่งผู้ประกอบการบางรายจะใช้วิธีการนำเข้ามาเป็นตู้คอนเทนเนอร์และแสดงเอกสารว่าใช้เพื่อการแปรรูป
แต่เมื่อมาถึงล้งส่งออกในฝั่งไทยจะทำการเปลี่ยนกล่องส่งออกไปใหม่ หรือบางรายนำเข้าโรงงานแปรรูปจริง แต่เปลี่ยนกล่องในโรงงานแปรรูปเป็นการส่งผลสด ซึ่งการกระทำในลักษณะนี้วงการทุเรียนรู้ดีว่าอยู่ที่ใด จากนี้ไปเจ้าหน้าที่จึงจะต้องเข้มงวดกวดขันให้มากยิ่งขึ้น และต้องส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบตามโรงงานต่างๆ ทุเรียนที่นำเข้าจากต่างแดนใช้เพื่อการแปรรูปจริงหรือไม่
“ราคาทุเรียนต่างชาติที่ถูกกว่าไทยครึ่งต่อครึ่ง คือแรงจูงใจที่ทำให้ผู้ส่งออกบางคนยังทำแบบนี้เพราะส่วนต่างที่จะได้สูงมาก แต่ไม่คำนึงถึงผลเสียหายของภาพรวมทุเรียนไทยทั้งระบบ”
โดยการนำทุเรียนต่างชาติมาสวมสิทธิเป็นทุเรียนไทยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการซื้อมาจนถึงการรีแพกใหม่เพื่อส่งออก ซึ่งสนนราคาเบ็ดเสร็จของวิธีการดังกล่าวจะมีต้นทุนการส่งออกแค่เพียง 100 บาทกิโลกรัม แต่เมื่อถูกส่งออกไปต่างประเทศแล้วจะมีส่วนต่างราคาต่อตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มขึ้นราว 1,000,000 บาท
“และนี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คนโลภยังคงเลือกที่จะกระทำต่อไป เพราะทำแบบนี้แค่ปีละ 5 ตู้ ได้เงินกินเปล่าแบบสบายๆ ถึง 5,000,000 บาท ต่อปี” นายณัฐกฤษฎ์ กล่าว
ขณะที่ น.ส.ญาณธิชา บัวเผื่อน ส.ส.จันทบุรี เขต 3 พรรคก้าวไกล โฆษก กมธ.แก้ไขราคาผลผลิตเกษตรกรรม บอกว่ากรรมาธิการแก้ไขราคาผลผลิตเกษตรกรรม จะหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจังเสียที ซึ่งในกรณีการสวมสิทธิทุเรียนไทยจะต้องเพิ่มบทลงโทษผู้กระทำผิดให้หนักกว่าเดิม
“การสวมสิทธิทุเรียนไทย เป็นปัญหาระดับชาติที่หน่วยงานภาครัฐจะต้องลงมาแก้ปัญหาจริงจังเสียที เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ใช่เกิดกับชาวสวนทุเรียนจันทบุรี แต่เกิดขึ้นกับทุเรียนส่งออกประเทศไทยทุกภาค” น.ส.ญาณธิชา กล่าว
อีกทั้งยังพบว่าการสวมสิทธิทุเรียนในปีนี้มีข้อมูลในทางลับของเจ้าหน้าที่ว่า ผู้ประกอบการจะไม่ทำในประเทศไทยแล้วเพราะถูกตรวจสอบหนัก แต่จะใช้วิธีบรรจุทุเรียนดีที่บริเวณท้ายตู้คอนเทนเนอร์เพียงแค่ 2-3 แถว และใช้กล่องหรือทุเรียนด้อยคุณภาพวางในแถวถัดไปเพื่อให้ด้านในโล่ง และเมื่อข้ามแดนไทยได้แล้วจะเกิดกระบวนการสวมสิทธิทุเรียนระหว่างทาง
เริ่มจากการตัดหูช้างฝาตู้เพื่อไม่ให้สายรัดฝาตู้ชำรุด ผู้ประกอบการบางรายใช้วิธีเจาะหลังคาตู้ บางรายเจาะหน้าตู้ด้านติดกับตัวรถซ้ำร้ายไปกว่านั้น บางรายแกะสายรัดก่อนถึงด่านจีน
โดยคำตอบเดียวที่ทำให้ผู้ประกอบการบางรายกล้าทำเช่นนี้เพราะเงินที่มีมูลค่าสูงขึ้นมากจึงยอมเสี่ยงทำและลำเลียงให้ไปถึงประเทศปลายทาง และในทางลับของเจ้าหน้าที่ยังพบว่า มีกลุ่มทุนต่างประเทศอีกไม่ต่ำกว่า 5 กลุ่ม รู้เห็นเป็นใจให้ดำเนินการ
และหากหน่วยงานของไทยยังปล่อยให้เป็นเช่นนี้ เชื่อว่าอนาคตทุเรียนไทยในต่างแดน ไม่แคล้วที่จะมีชะตากรรมเฉกเช่นเดียวกับ ลำไย และมังคุดอย่างแน่นอน