ศูนย์ข่าวศรีราชา - ทุนท้องถิ่นเมืองศรีราชา เดินหน้าลุยธุรกิจโรงน้ำแข็ง-อสังหาริมทรัพย์ หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการท่องเที่ยว ทำความต้องใช้น้ำแข็งในธุรกิจร้านอาหาร และโรงแรมพุ่งสูงถึง 80% ส่วนความต้องการที่อยู่อาศัยในทำเลทองยังมีต่อเนื่อง
ในช่วงที่สถานการณ์ระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ประกอบกับรัฐบาลได้ประกาศมาตรการผ่อนคลายทางการท่องเที่ยวแบบชุดใหญ่ไฟกะพริบ ทำในวันนี้ผู้ประกอบการในหลายธุรกิจของ จ.ชลบุรี ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเมืองท่องเที่ยวสำคัญที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวจำนวนหลายร้อยล้านบาทต่อปี เริ่มขยับตัวอีกครั้งหลังต้องพักกันแบบยาวๆ มานานกว่า 2 ปี
โดยอีกหนึ่งนักลงทุนท้องถิ่นเมืองศรีราชาที่น่าจับตาคือ กลุ่มบริษัท เอ็ม มารีน 2018 จำกัด ซึ่งบริหารงานโดย นางภัควลัญชญ์ ชำนิ ที่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้ทุ่มงบประมาณไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท ก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำแข็งหลอดขนาดกลางและใหญ่ป้อนธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม และการท่องเที่ยวในเมืองศรีราชา พัทยา และเมืองชลบุรี ที่กำลังเริ่มฟื้นตัว
นางภัควลัญชญ์ ชำนิ กรรมการบริหาร บริษัท เอ็ม มารีน 2018 จำกัด เผยว่า ก่อนหน้านี้ครอบครัวได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับเรือประมง ก่อนจะขยายสู่ธุรกิจรับบำบัดน้ำมันให้เรือประมงและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ส่วนการเปิดโรงงานผลิตน้ำแข็งหลอด เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในเขตเมืองศรีราชา ที่มีทั้งนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติเข้ามาอยู่อาศัยและทำงาน จนทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอาหารเติบโตตามไปด้วย
ขณะที่ “โรงน้ำแข็งวรัญชญ์” แม้จะไม่ใช่โรงน้ำแข็งขนาดใหญ่แต่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี จนทำให้ในวันนี้มีลูกค้าไกลถึงเมืองพัทยา และ จ.ระยอง
“โรงน้ำแข็งวรัญชญ์ ให้ความสำคัญกับการลงทุนเรื่องเครื่องจักรที่สมัยใหม่เพื่อให้น้ำแข็งที่ผลิตได้มีความสะอาดมากที่สุดจนได้รับเครื่องหมาย GMP จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม และในช่วงโควิด-19 เรายังได้นำเข้าเครื่อง RO เพื่อช่วยสนับสนุนเรื่องการกรองน้ำที่เราใช้จากการประปาส่วนภูมิภาคทั้งหมดให้มีความสะอาดและปราศจากสิ่งเจือปนมายิ่งขึ้น”
นางภัควลัญชญ์ ยังเผยอีกว่า ก่อนที่จะดำเนินธุรกิจโรงน้ำแข็ง บริษัทฯ ได้สำรวจความต้องการของตลาดจนพบว่า เมืองศรีราชา และเขตเมืองชลบุรี ยังมีที่ว่างสำหรับการแชร์ส่วนแบ่งการตลาดจากการเติบโตของธุรกิจร้านอาหาร รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวกับของกิน และการท่องเที่ยว
โดยเฉพาะความต้องการน้ำแข็งสำหรับแช่อาหารอีกมาก ซึ่งการผลิตน้ำแข็งของโรงงานมีเป้าหมายคือ กลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร ร้านกาแฟ และโรงแรม บริษัทฯ จึงได้ขออนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งเทศบาลเมืองศรีราชา เป็นที่เรียบร้อย และยังได้เชิญกลุ่มผู้ค้าหลายรายเข้ามาทดสอบความสะอาดของก้อนน้ำแข็งจนได้รับความไว้วางใจมีผู้เสนอตัวร่วมเป็นแทนจำหน่ายต่อเนื่อง
“เฉพาะเครื่องจักรอย่างเดียวเราลงทุนไปแล้วกว่า 20 ล้านบาท โดยได้นำเข้าเครื่องจักรสำหรับผลิตน้ำแข็งหลอดเล็กที่สามารถผลิตได้วันละ 30 ตัน และน้ำแข็งหลอดใหญ่ที่มีกำลังการผลิต 50 ตันไปแล้ว และในช่วงปลายปีนี้จะนำเข้าเครื่องผลิตน้ำแข็งขนาด 100 ตันต่อวัน เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งโรงงานของเราจะเริ่มเดินเครื่องผลิตตั้งแต่เวลา 24.00 น.ไปจนถึง 08.00 น.ของอีกวัน โดมีปริมาณส่งขายในแต่ละที่ 3,000 ถุง”
นางภัควลัญชญ์ บอกว่าในช่วงโควิด-19 ระบาดหนักยอดขายน้ำแข็งหลอดที่เคยมีหลายพันถุงต่อวันหายไปกว่าครึ่ง แต่ในวันนี้ความต้องการใช้น้ำแข็งดีดกลับมาแล้วกว่า 80% จนต้องเพิ่มจำนวนพนักงานเพื่อให้สามารถกระจายสินค้าได้ทัน ขณะที่การแข่งขันในธุรกิจมองว่าไม่ใช่เรื่องรุนแรงเพราะผู้ประกอบการในพื้นที่ดำเนินธุรกิจกันแบบช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ลุยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภายใต้ชื่อ “วรัญชญ์ มารีน” หลังช่วงโควิดได้สะสมที่ดินหลายแปลง
นางภัควลัญชญ์ ยังเผยถึงการดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทภายใต้ชื่อ “วรัญชญ์ มารีน” ว่าแม้จะเปิดตัวได้ไม่นานแต่เริ่มเป็นที่รู้จักของกลุ่มลูกค้าเพราะบริษัทฯ ไม่เน้นการปลูกบ้านเพื่อรอขาย แต่จะเน้นปลูกบ้านตามความต้องการของลูกค้า โดยสามารถสร้างบ้านได้ตั้งแต่ระดับราคาล้านกว่าบาท ไปจนถึง 20 ล้านบาท
“ในปีนี้เราสร้างบ้านให้ลูกค้าได้แล้ว 2 หลังและที่ผ่านมา เรายังได้สะสมที่ดิน ทั้งขนาดเล็กและใหญ่ตั้งแต่ใน อ.ศรีราชา เมืองชลบุรี และ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง เพื่อเป็นทางให้เลือกให้ลูกค้า ซึ่งเราจะให้ลูกค้าเป็นผู้กำหนดพื้นที่สร้างบ้าน รูปแบบบ้านและเนื้อที่ที่ต้องการด้วยตัวเอง ซึ่งการเปิดบริษัท วรัญ มารีน ยังจะครอบคลุมโรงงานบำบัดน้ำมันที่กำลังจะเปิดตัวในเร็วๆ นี้อีกด้วย”
นางภัควลัญชญ์ ยังบอกอีกว่า แม้ผลกระทบจากพิษโควิด-19 จะทำให้ภาคธุรกิจต่างๆ ฟื้นตัวได้ยาก แต่สำหรับเมืองศรีราชา ซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวแล้วเชื่อว่าความต้องการด้านที่อยู่อาศัยยังมีอยู่สูง แม้ราคาที่ดินสำหรับใช้เป็นที่อยู่อาศัยจะสูงถึงไร่ละ 6 ล้านบาทแล้วก็ตาม