ศูนย์ข่าวขอนแก่น - “ชาญทัวร์” ผู้ประกอบการรถโดยสารรายใหญ่ โอดโควิดระบาด ซ้ำน้ำมันแพงลิ่ว กระทบหนัก เผยมาตรการตรึงราคาดีเซลและเพิ่มอัตราค่าโดยสารยังช่วยได้ไม่มาก ชี้ยอมขายที่ดินและธุรกิจอื่นนำเงินมาประคองธุรกิจ วอนรัฐหามาตรการช่วยเพิ่ม ตรึงราคาดีเซล กระตุ้นคนใช้รถโดยสารมากขึ้น
นายชาญ นามประเสริฐกุล กรรมการผู้จัดการบริษัทชาญทัวร์ ผู้ประกอบการเดินรถโดยสาร กล่าวว่า ก่อนเกิดการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ผลประกอบการธุรกิจของตนมีรายได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 800,000 บาทต่อวัน แต่หลังจากที่มีโควิด-19 ระบาด ผลประกอบการถือว่าเข้าขั้นวิกฤต เพราะรถแทบไม่ได้วิ่งเนื่องจากคนไม่เดินทาง กลัวโรคระบาด การเดินทางส่วนใหญ่หันไปใช้รถยนต์ส่วนตัวมากขึ้น
ที่สำคัญในปีนี้ที่สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง อย่างน้ำมันดีเซลปรับตัวสูงขึ้น ยิ่งซ้ำเติมผู้ประกอบการรถโดยสารเข้าไปอีก ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการเดินรถโดยสารต้องปรับตัวประคองธุรกิจให้รอดพ้นจากวิกฤตนี้ให้ได้ ซึ่งเป็นไปด้วยความลำบาก แม้ว่าทางภาครัฐจะช่วยเหลือโดยตรึงราคาน้ำมันดีเซล และเพิ่มอัตราค่าโดยสารขึ้นให้ก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้
นายชาญกล่าวต่อว่า บริษัทเรามีรถบัสโดยสารวิ่งให้บริการรวม 83 คัน แบ่งเป็น รถ ม.4ข จำนวน 58 คัน, รถ ม.4ก จำนวน 4 คัน, รถ ม.4พ จำนวน 20 คัน และรถ ม.2 จำนวน 1 คัน โดยแยกออกเป็น หมวด 2 สายที่ 5 กรุงเทพฯ-หนองบัว-ศรีเชียงใหม่ จำนวน 4 คัน, หมวด 2 สาย 20 กรุงเทพฯ-ขอนแก่น จำนวน 4 คัน, หมวด 2 สายที่ 22 กรุงเทพฯ-อุดรธานี จำนวน 17 คัน, หมวด 2 สายที่ 23 กรุงเทพฯ-หนองคาย จำนวน 10 คัน, หมวด 2 สายที่ 24 กรุงเทพฯ-ดอนตาล จำนวน 4 คัน,
หมวด 2 สายที่ 30 กรุงเทพฯ-กระนวน-บ้านแพง จำนวน 1 คัน, หมวด 2 สายที่ 79 กรุงเทพฯ-กุมภวาปี-บึงกาฬ จำนวน 9 คัน, หมวด 2 สายที่ 97 กรุงเทพฯ-พังโคน จำนวน 1 คัน, หมวด 2 สาย 932 กรุงเทพฯ-มหาสารคาม จำนวน 10 คัน, หมวด 2 สายที่ 933 กรุงเทพฯ-ศรีเชียงใหม่ จำนวน 6 คัน และหมวด 2 สายที่ 943 กรุงเทพฯ-บึงกาฬ จำนวน 1 คัน ซึ่งเป็นรถและเที่ยวรถที่เคยวิ่งให้บริการมาตั้งแต่ก่อนจะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19
แต่ปัจจุบันเหลือรถที่วิ่งให้บริการเพียง 4 คัน แบบไป-กลับ รวม 8-10 เที่ยว ได้แก่ สายหนองคาย-กรุงเทพฯ จำนวน 2 คัน, สายนครพนม-ระยอง และสายเลย-ระยอง สายละ 1 คัน ผลประกอบการตอนนี้เหลือมากสุดไม่เกิน 200,000 บาทต่อวัน ซึ่งถือว่าแบกรับภาระหนักมาก เพราะต้องจ่ายเงินเดือนพนักงาน 15 วันต่อครั้ง เฉลี่ยครั้งละเกือบ 300,000 บาท ตกเดือนละเกือบ 1 ล้านบาท แต่ก็ต้องทำพอให้มีรายได้มาดูแลพนักงานและประคองธุรกิจให้คงอยู่เท่านั้น
นายชาญกล่าวอีกว่า ตอนนี้ยอมรับว่าต้องแบกรับภาระหนี้สินจากการกู้ยืมเงินกับธนาคารเพื่อมาบริหารกิจการรถโดยสาร เพราะต้นทุนสูงขึ้น แต่รายรับหายไปเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ อย่างข้อมูลการเดินรถวันนี้ สายกรุงทพฯ-หนองคายมีผู้ใช้บริการเพียง 17 คนเท่านั้น โดยรับผู้โดยสารที่ขึ้นรถจากจังหวัดอุดรธานี 2 คน และขอนแก่น อีก 15 คน ซึ่งไม่คุ้มกับค่าเชื้อเพลิงและขาดทุนแล้ว แต่ก็ต้องวิ่งรถเช่นเดิม เพื่อให้เป็นไปตามที่หน่วยงานที่ดูแลกำหนด
ดังนั้น แม้ว่าภาครัฐจะตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 35 บาทต่อลิตรก็มองว่ายังไม่สามารถแก้ปัญหาให้ผู้ประกอบการรถโดยสารได้ เพราะเงื่อนไขสำคัญคือ จำนวนคนที่จะเดินทางและใช้บริการรถโดยสารประจำทาง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น แนวโน้มสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และประชาชนมีทางเลือกการเดินทางมากขึ้น ซึ่งในภาวะแบบนี้ รถโดยสาร 1 คันจะวิ่งได้โดยไม่ขาดทุน จะต้องมีผู้โดยสารอย่างน้อย 30 คน หรือ 30 ที่นั่งขึ้นไป
หากเป็นไปได้อยากเรียกร้องภาครัฐหาทางช่วยให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงอย่าให้ปรับราคาขึ้นมากกว่านี้ และหากเป็นไปได้อยากให้ปรับอัตราค่าโดยสารขึ้นอีกเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างต้นทุนกับรายได้ เพราะไม่เช่นนั้นผู้ประกอบการรถโดยสารจะย่ำแย่ไปอีก ทั้งอยากให้หาทางกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น เพื่อให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยว เพราะทุกวันนี้คนที่เดินทางด้วยรถโดยสารเป็นเพียงกลุ่มคนทำงานเป็นส่วนใหญ่ ส่วนกลุ่มเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวยังมีน้อยมาก