xs
xsm
sm
md
lg

ชาวไร่อ้อยเฮ! ดีพร้อมชูงานวิจัยสมาร์ทฟาร์มสู่ไร่อ้อย ลดต้นทุนผลิต20% ยกระดับผลผลิตเกษตรอุตสาหกรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวขอนแก่น-กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผนึกทีมนักวิจัย โชว์ผลงานแก้ปัญหาชาวไร่อ้อย หลังเผชิญปัญหาอ้อยคุณภาพต่ำ ความหวานไม่คงที่ นำแพลตฟอร์มบริการ FPS (Field Practice Solutions) ช่วย โอ่ลดต้นทุนผลิตกว่า 20% หรือกว่า 50 ล้านบาทต่อปีต่อโรงงาน

วันนี้ (23 มิ.ย.) ที่ห้องประชุมออดิทอเรียน อาคารอำนวยการวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และในฐานะประธาน Spearhead ด้านเศรษฐกิจประเด็นแผนงานวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และแผนงานระบบโลจิสติกส์อัจฉริยะพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าวผลงาน “วิจัยสู่การปฏิบัติ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต อัปเกรดเกษตรอุตสาหกรรมไทย” มีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมสื่อมวลชนร่วมในกิจกรรม

ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธาน Spearhead ด้านเศรษฐกิจ ในประเด็นแผนงานวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และแผนงานระบบ โลจิสติกส์อัจฉริยะ รวมถึงนโยบายของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่สั่งการให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลที่เป็นกลไกหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

รวมถึงปัจจุบันพบว่าชาวไร่อ้อยกำลังเผชิญกับปัญหาไม่สามารถควบคุมคุณภาพ รวมถึงปริมาณเก็บเกี่ยวได้ ประกอบกับปัญหาคุณภาพอ้อยต่ำกว่าเกณฑ์และความหวานไม่คงที่ ส่งผลให้ต้นทุนผลิตต่อตันน้ำตาลสูงขึ้น ทำให้ขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลลดลง

ดังนั้นการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามามีบทบาท พัฒนาการเกษตรของไทยให้เป็น Smart Farmer รวมถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อใช้กำหนดรูปแบบแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่ม (value added) ให้แก่ผลผลิตการเกษตร โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาช่วยแก้ปัญหาทำเกษตรอย่างถูกต้อง ตลอดจนการจัดการแบบเกษตรแม่นยำ ทำให้สามารถเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนทั้งด้านวัตถุดิบและเวลาให้กับชาวไร่อ้อยได้

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) จึงนำนโยบาย DIPROM CARE มาประยุกต์ใช้ผ่านการพัฒนา และวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมมาเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนทั้งด้านวัตถุดิบและเวลาให้กับภาคการเกษตร รวมถึงการบูรณาการระหว่างพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยสามารถวิจัยแพลตฟอร์มบริการ FPS (Field Practice Solutions) ได้สำเร็จ อาทิ ระบบประมวลผลเพื่อสร้างแผนที่ผลผลิตและแผนที่การระบาดของโรคพืชจากภาพถ่ายทางอากาศ ระบบประมวลผลเพื่อสร้างฐานข้อมูลในระบบภูมิสารสนเทศ (GIS) จากแผนที่ผลผลิต

ระบบผสมสารและบรรจุลงถังบรรจุอัตโนมัติสำหรับโดรน ระบบฉีดพ่นสาร แบบแปรผันอัตโนมัติติดตั้งบนโดรนชุด Mobile-KIT และ Mobile Application สำหรับระบุพิกัดแปลงและติดตามกิจกรรมในแปลง และระบบ AI สำหรับเสนอแนะแผนการทำงาน บันทึกและแสดงผลการทำงานของเครื่องจักรเกษตร และแนะนำการให้ปุ๋ยแบบแม่นยำสูงรายแปลงอัตโนมัติ ซึ่งระบบจะช่วยเรื่องการตัดสินใจในงานบำรุงรักษา เก็บเกี่ยว และเชื่อมโยงกับระบบตรวจวัด




รวมทั้งมีระบบสามารถรองรับคำสั่งให้เกิดการปรับการปฏิบัติงานในฟาร์มตามแผนงานใหม่ ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการออกแบบแปลงปลูก การบำรุงรักษาและอารักขาพืช การเก็บเกี่ยวและการขนส่ง และสามารถปรับรูปแบบตามความต้องการของผู้ใช้บริการแต่ละราย หรือพืชแต่ละชนิด ซึ่งช่วยลดการสูญเสียด้านคุณภาพของผลผลิต ลดเวลารอคอยที่ไม่เกิดงานและเพิ่มความสามารถของเครื่องจักรได้

อาทิ กรณีของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย สามารถลดต้นทุนการผลิตน้ำตาลหรือพลังงานชีวมวลได้มากกว่าร้อยละ 20 คิดเป็นประมาณ 50 ล้านบาทต่อปีต่อโรงงาน ซึ่งสามารถกำหนดตารางเก็บเกี่ยวอ้อยขณะที่อ้อยแต่ละแปลงมีน้ำหนักและความหวานสูงสุด สามารถใช้งานเครื่องจักรเก็บเกี่ยวได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้สามารถลดจำนวนเครื่องจักรและลดค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุง และจัดการให้มีวัตถุดิบอ้อยเข้าโรงงานที่มีคุณภาพ มีปริมาณเต็มศักยภาพผลิตของโรงงานในแต่ละวัน ลดการเสื่อมสภาพของวัตถุดิบ ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย รวมทั้งสามารถลดจำนวนวันที่เปิดหีบ ทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการผลิตน้ำตาลต่อตันได้


กำลังโหลดความคิดเห็น