ประจวบคีรีขันธ์ - กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับเทศบาลเมืองหัวหิน เร่งเก็บกู้ฐานทุ่นแนวเขตความปลอดภัยนักท่องเที่ยว บริเวณชายหาดหัวหินเกือบ 10 ทุ่น หลังได้รับการร้องเรียนว่า ทุ่นดังกล่าวถูกคลื่นทะเลซัดเข้าใกล้ชายฝั่ง และจะเป็นอันตรายกับนักท่องเที่ยว และกิจกรรมทางทะเล
วันนี้ (18 มิ.ย.) น.ส.บุษบา โชคสุชาติ รองนายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน นายจีรวัฒน์ พราหมณี ปลัดเทศบาลเมืองหัวหิน พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 เพชรบุรี ร่วมกันลงพื้นที่ชายหาดหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อตรวจสอบข้อร้องเรียนกรณีนักท่องเที่ยวได้รับความเดือดร้อนจากฐานทุ่นแนวเขตความปลอดภัยนักท่องเที่ยว บริเวณชายหาดหัวหิน ซึ่งปัจจุบันแนวการวางทุ่นเพื่อกำหนดเขตความปลอดภัยนักท่องเที่ยวถูกคลื่นลมมรสุมพัดเสียหายจนหมด รวมทั้งฐานทุ่นในทะเลถูกคลื่นลมซัดเข้าใกล้ชายฝั่ง เป็นอันตรายต่อนักท่องเที่ยวที่ลงเล่นน้ำ และกิจกรรมทางทะเล ที่อาจจะมีอุปกรณ์บางส่วนเข้าไปพันกับทุ่นได้รับบาดเจ็บได้ อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลจัดการปัญหา
โดยนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 เพชรบุรี ลงพื้นที่ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกับเทศบาลเมืองหัวหินโดยด่วน
ในครั้งนี้เจ้าหน้าที่จากสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 เพชรบุรี ได้ลงเรือเจ็ตสกีของชาวบ้านเพื่อสำรวจสภาพแนวทุ่นที่เป็นปัญหา พบว่ามีทุ่นที่ถูกซัดเข้าชายฝั่งและอาจจะเป็นอันตรายต่อนักท่องเที่ยวต้องเก็บกู้เร่งด่วน จำนวน 8 ทุ่น แต่ละทุ่นจมอยู่ในทะเลที่ความลึกประมาณ 5-6 เมตร โดยทุ่นนี้เป็นทุ่นปูนซีเมนต์ขนาดกว้าง x ยาวด้านละ 50 เซนติเมตร ขนาดความสูง 1 เมตร แต่ละข้างจะมีเหล็กแท่งยื่นออกมาข้างละ 2 แท่งเพื่อเป็นตัวยึดทุ่นตาข่ายแนวเขต น้ำหนักประมาณ 200-300 กิโลกรัม ขณะนี้ชาวบ้านได้นำเชือกผูกติดกับขวดพลาสติกไปผูกไว้ที่ทุ่นแต่ละอันเพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้นักกีฬาทางน้ำ หรือนักท่องเที่ยวที่ว่ายน้ำออกไประมัดระวังเป็นพิเศษ
ทั้งนี้ ทุ่นดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการจัดทำทุ่นแนวเขตความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวอำเภอหัวหิน เมื่อปี พ.ศ.2560 เพื่อกำหนดแนวเขตพื้นที่เล่นน้ำของนักท่องเที่ยว ป้องกันอันตรายจากจากเรือสปีดโบ๊ต เรือเจ็ตสกี และกีฬาทางน้ำอื่นๆ โดยทำการติดตั้งตลอดแนวชายหาดหัวหินถึงเขาตะเกียบ
ขณะนี้แนวทุ่นดังกล่าวได้เสียหายไปทั้งหมดเนื่องจากสภาพคลื่นลมมรสุม ในส่วนของฐานทุ่นที่วางไว้ในทะเล บางส่วนเทศบาลเมืองหัวหินได้ทำการเก็บกู้มาบ้างแล้วตั้งแต่ปี 2564 ส่วนที่พบเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้น่าจะจมอยู่ลึก ต่อมาถูกคลื่นลมซัดเข้ามาใกล้หาด
ภายหลังเจ้าหน้าที่ลงเรือเจ็ตสกีสำรวจสภาพฐานทุ่นแล้ว เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 เพชรบุรี ได้ร่วมกันหารือกับเทศบาลเมืองหัวหิน เพื่อวางแผนการเก็บกู้ฐานทุ่นที่เป็นปัญหาออกโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ จากการสำรวจสภาพฐานทุ่นพบว่าจะต้องใช้นักประดาน้ำลงไปตรวจสอบฐานทุ่นแต่ละอันเพื่อกำหนดแนวทางในการเก็บกู้ ซึ่งจะต้องใช้เรือ และเครื่องมือที่เหมาะสม รวมทั้งบางจุดอาจจะต้องใช้รถขนาดใหญ่ช่วยดึงและลากขึ้นมา นอกจากนี้ จะต้องดูสภาพคลื่นลมทะเลด้วย
อย่างไรก็ตาม จะเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว พร้อมกันนี้จะมีการส่งเจ้าหน้าที่ลงมาสำรวจฐานทุ่นที่เหลือในทะเลหัวหินทั้งหมด และดำเนินการเก็บกู้ฐานทุ่นที่เหลือออกทั้งหมดด้วย