xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.ปลื้ม"โซลาร์เซลลอยน้ำไฮบริด"ใหญ่สุดในโลก พัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ เขื่อนสิรินธร ปัจจุบันได้พัฒนาพื้นที่โดยรอบให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว สามารถสร้างรายได้เกิดขึ้นกับชุมชนได้ดี
ศูนย์ข่าวขอนแก่น-โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ เขื่อนสิรินธร เดินหน้าผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ เผยกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ชี้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่มีเสถียรภาพ ราคาถูก และเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม พร้อมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน


เมื่อเร็วๆนี้ ที่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ เขื่อนสิรินธร อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี คณะสื่อมวลชนจังหวัดขอนแก่น ลงพื้นที่ศึกษาดูงานการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ เพื่อสื่อสารสร้างความรู้ ความเข้าใจแผนการพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดของ กฟผ. พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมีนายฉัตรชัย มาวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำและพลังงานหมุนเวียน พร้อมด้วยผู้บริหาร กฟผ.ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชน

นายฉัตรชัย มาวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำและพลังงานหมุนเวียน กล่าวว่า โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธรเป็นโครงการนำร่องแห่งแรกของ กฟผ. ที่ผสมผสานการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังน้ำจากเขื่อน มีขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ และได้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ไปแล้ว เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564 การดำเนินงานของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ได้สำเร็จผลตามเป้าหมาย คือสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่มีเสถียรภาพ มีราคาถูก เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันโรงไฟฟ้าแห่งนี้ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวและศึกษาดูงานที่สำคัญ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วประเทศ มาสัมผัสความงามและยิ่งใหญ่ของโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้กับชุมชน จากการที่นักท่องเที่ยวได้เข้ามาจับจ่ายซื้อสินค้าของชุมชนใกล้โรงไฟฟ้า และสนับสนุนกลุ่มแพท่องเที่ยวในพื้นที่อีกด้วย




คณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าฯ ชมเส้นทางเดินชมธรรมชาติ และเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้สวนเกษตรผสมผสานชีววิถี “หมอลำ ทำเกษตร” ที่เขื่อนสิรินธรได้ให้การสนับสนุน โดยศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กฟผ.ระดับประเทศ ประเภทราษฎรในปี 2564 รวมทั้งได้ร่วมรับฟังประสบการณ์ตรงจากชุมชนที่อาศัยรอบพื้นที่เขื่อนสิรินธร แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสื่อมวลชนจังหวัดอุบลราชธานี และรับฟังเรื่องเล่าประสบการณ์การทำงานและความท้าทายของงานก่อสร้างโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร ผ่านมุมมองของผู้รับผิดชอบโครงการ

ทั้งนี้กฟผ. มีแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 (PDP 2018 Rev.1) ส่งเสริมผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียน (RE) เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) โดย กฟผ. มีแผนพัฒนาโครงการฯ ในพื้นที่ 9 เขื่อน 16 โครงการ รวมขนาดกำลังการผลิต 2,725 เมกะวัตต์


จากผลสำเร็จของโครงการฯเขื่อนสิรินธร กฟผ. ได้เดินหน้าพัฒนาโครงการต่อที่เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ขนาดกำลังผลิต 24 เมกะวัตต์ พร้อมต่อยอดเพื่อเพิ่มเสถียรภาพของการผลิตไฟฟ้าให้ดียิ่งขึ้น โดยติดตั้งแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System - BESS) ทำให้การผลิตไฟฟ้ามีเสถียรภาพในช่วงสับเปลี่ยนระหว่างพลังน้ำและพลังงานแสงอาทิตย์ ส่งผลให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องยิ่งขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น