xs
xsm
sm
md
lg

สทนช.เดินหน้าศึกษา SEA พื้นที่ลุ่มน้ำโขงภาคอีสานหวังแก้ปัญหาน้ำท่วม-แห้งแล้งซ้ำซาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มุกดาหาร - สทนช.เดินหน้าศึกษาโครงการ SEA ประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 10 จังหวัดลุ่มน้ำโขงภาคอีสาน ครอบคลุม 36 ลุ่มน้ำสาขา เพื่อเป็นกรอบการวางแผน บริหารจัดการน้ำเชื่อมโยงทั้งระบบ บรรเทาปัญหาทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม และดินถล่ม รวมถึงการจัดสรรและกระจายน้ำอย่างทั่วถึงและเพียงพอ


วันนี้ (19 พ.ค.) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมบลูโซเชียล โรงแรมบลู โฮเทล จังหวัดนครพนม นายสราวุธ ชีวะประเสริฐ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานเปิดกิจกรรมสร้างการรับรู้ผ่านสื่อในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ “โครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์และแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (Strategic Environmental Assessment : SEA) พื้นที่ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ”

นายสราวุธ ชีวะประเสริฐ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวว่า สทนช.ได้มอบหมายให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท อินเตอร์ เทค คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท โพธิศิรินทร์ ไทยคอนซัลแต๊นท์ จำกัด ทำการศึกษาโครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์และแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้การพัฒนาของลุ่มน้ำสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบ หรือมีผลกระทบในระดับที่ยอมรับได้ และเป็นไปตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580)

พร้อมทั้งจัดทำแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จัดลำดับความสำคัญของโครงการพัฒนาในอนาคต การป้องกันอุทกภัยและการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เพื่อเป็นกรอบการดำเนินการบริหารจัดการน้ำของลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือสำหรับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการ ลดความซ้ำช้อนของแผนงาน และกำหนดกรอบแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป




นายสราวุธกล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ด้านทรัพยากรน้ำในปัจจุบัน รวมถึงความสำคัญของลุ่มน้ำ และสภาพปัญหาของพื้นที่ ส่งผลให้มีความจำเป็นต้องเร่งรัดวางแผนบริหารจัดการน้ำทั้งระบบลุ่มน้ำ ต้องบริหารจัดการการใช้ประโยชน์และจัดสรรน้ำตามความต้องการของประชาชน การพัฒนาของเมืองและชนบท การใช้น้ำเพื่อการพัฒนาภาคส่วนต่าง ๆ การเกษตร การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังต้องอนุรักษ์น้ำสำหรับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และระบบนิเวศ

ตลอดจนเพื่อการแก้ไขปัญหาจากภัยธรรมชาติ น้ำท่วม น้ำแล้ง คุณภาพน้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาชุมชน ความเป็นอยู่ การกินดีอยู่ดี นอกจากนี้ ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือมีความเกี่ยวข้องกับลุ่มน้ำระหว่างประเทศ จึงต้องพิจารณาบริบทการใช้น้ำระหว่างประเทศ และต้องเชื่อมโยงข้อมูลการบริหารจัดการน้ำกับประเทศเพื่อนบ้าน

สำหรับพื้นที่ศึกษาลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย 36 ลุ่มน้ำสาขา ที่แบ่งเป็น 9 กลุ่มลุ่มน้ำสาขา ครอบคลุม 10 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี รวมพื้นที่ 47,165.08 ตร.กม. หรือ 29.8 ล้านไร่ ซึ่งวัตถุประสงค์ของการดำเนินงานภายใต้โครงการนี้ เพื่อศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ของพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ และทบทวนวิเคราะห์การดำเนินงานพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ศึกษาโครงการที่ผ่านมาสำหรับประกอบการจัดทำแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580)


พร้อมประเมินผลการดำเนินงานในช่วงปี พ.ศ. 2561-2564 และจัดทำแผนปฏิบัติการ การบริหารทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2566-2570 โดยกิจกรรมสร้างการรับรู้ผ่านสื่อในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือที่จัดขึ้นในครั้งนี้ มุ่งหวังให้เกิดการรับรู้ รับทราบสาระสำคัญของโครงการ อันเป็นประโยชน์ต่อการเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสารของสื่อมวลชนไปสู่สาธารณะต่อไป


การดำเนินการของ สทนช.ในครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ตามเป้าหมายของการพัฒนาที่ว่า สร้างความมั่นคงของทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือด้วยการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วม และมีความเชื่อมโยงกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580 ) ทั้ง 6 ด้าน เพื่อขับเคลื่อนให้การดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมาย

ประกอบด้วย 4 ประเด็นยุทธศาสตร์ คือ 1. การจัดหาและจัดสรรทรัพยากรน้ำอย่างเป็นธรรม และมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมของผู้ใช้น้ำ 2. การป้องกัน คุ้มครอง และฟื้นฟูการให้บริการระบบนิเวศที่เชื่อมโยงกับทรัพยากรน้ำโดยการมีส่วนร่วมระหว่างผู้ใช้น้ำ 3. การส่งเสริมการปรับตัวของผู้ใช้น้ำต่อปัญหาด้านทรัพยากรน้ำ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 4. การสร้างความเข้มแข็ง และส่งเสริมศักยภาพการบริหารจัดการลุ่มน้ำ


กำลังโหลดความคิดเห็น