xs
xsm
sm
md
lg

จ่อคุมกำเนิดช้างป่า 5 จังหวัดตะวันออก หลังรุกพื้นที่ชาวบ้านหนักถึงขั้นทำร้ายคนเสียชีวิต​

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฉะเชิงเทรา​ - กรมอุุทยานฯ จ่อคุมกำเนิดช้างป่า 5 จังหวัดภาคตะวันออก หลังพบอัตราเจริญพันธุ์สูงถึงร้อยละ 8 ต่อปี ทำประชากรล้นพื้นที่ป่าออกสู่ชุมชน สร้างผลกระทบทั้งรุกพืชสวน ทำร้ายชาวบ้าน และ จนท.จนเสียชีวิต 

จาก​เหตุการณ์ช้างป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดตะวันออก ทำร้ายเจ้าหน้าที่ชุดเฝ้าระวังช้างป่าจนเสียชีวิตภายในสวนมะม่วงหิมพานต์ หมู่บ้านอ่างเสือดำ ม.7 ต.ท่าตะเกียบ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อช่วงค่ำวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา

โดยจุดเกิดเหตุ​อยู่ห่างจากฐานปฏิบัติการป้องกันรักษาป่าที่ ฉช.2 บ้านหนองปลาซิว เพียง 700 เมตร ซึ่งเหตุการณ์​ในลักษณะ​ดังกล่าวเกิดขึ้นแล้วหลายครั้งนั้น

ล่าสุด นายเผด็จ ลายทอง ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่าในเขตพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี สระแก้ว) ว่า กรมอุทยานแห่งชาติได้พยายามที่จะสร้างแหล่งน้ำและแหล่งอาหารสัตว์ป่าในพื้นที่อนุรักษ์ เพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์ในผืนป่า

ก่อนจะทำการผลักดันช้างป่าให้ออกนอกพื้นที่ของชาวบ้าน  นอกจากนั้น ยังมีแนวคิดที่จะสร้างแนวป้องกันเพื่อตรึงโขลงช้างให้อยู่แต่ในพื้นที่ที่กำหนด และจะเร่งรัดการให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องของพฤติกรรมช้างป่า และการสร้างเครือข่ายในการมีส่วนร่วมของประชาชน


ขณะที่จำนวนประชากรช้างในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จากการสำรวจเมื่อปี 2561 พบว่า มีประมาณ 270 กว่าตัว แต่ปริมาณของช้างกลุ่มป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออกทั้งหมดมีประมาณ 423 ตัว

และปัจจุบันยังพบอัตราของการเกิดของประชากรช้างป่าอีกประมาณร้อยละ 8 ต่อปี จึงทำให้ในขณะนี้มีช้างป่าในเขตป่ารอยต่อ 5 จังหวัดเพิ่มขึ้นรวมแล้วทั้งหมดประมาณ 470-480 ตัว

"สำหรับการช่วยเหลือพนักงานพิทักษ์ป่าที่ถูกช้างทำร้ายจนเสียชีวิตนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมเรื่องเพื่อนำเสนอไปยังทางกรมฯ ซึ่งจะมีกองทุนสวัสดิการและสหกรณ์เข้าช่วยเหลือ และยังมีเงินช่วยเหลือจากผู้ร่วมงาน ส่วนการดูแลครอบครัวผู้เสียชีวิตนั้นจะชดเชยเยียวยาให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้"   


นายเผด็จ ยังกล่าวอีกว่า จากข้อมูลในเชิงพื้นที่ซึ่งนักวิชาการได้มีการเสนอแนวคิดในการคุมกำเนิดช้างป่าที่จะต้องขึ้นอยู่กับโครงสร้างของประชากรช้างป่าว่าจะสามารถทำได้เท่าใดนั้น ที่ผ่านมา ทางกรมฯ ได้มีแนวทางจากงานวิจัยในการที่จะนำพิจารณา ทั้งทฤษฎีความเป็นธรรมชาติ และการปรับปรุงแหล่งน้ำ แหล่งอาหารที่จะต้องมีเพียงพอจึงจะสามารถผลักดันช้างให้กลับเข้าป่าได้ 

                                     






กำลังโหลดความคิดเห็น