xs
xsm
sm
md
lg

ธนารักษ์รับคืนพื้นที่ “บ้านป่าแหว่ง” เฟสแรก 45 หลัง แค่อีกบทหนึ่งของมหากาพย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงใหม่ - ชี้ธนารักษ์รับมอบคืนพื้นที่เฟสแรกโครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ประกอบด้วย บ้านพัก 45 หลัง บนเนื้อที่ 85 ไร่ เชิงดอยสุเทพ แค่อีกบทหนึ่งของมหากาพย์ “บ้านป่าแหว่ง” หลังเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ต่อสู้ย้ำจุดยืนยาวนาน 4 ปี จับตาใกล้ชิดต่อเนื่องจนกว่าจะมีการคืนพื้นที่ทั้งหมด และฟื้นฟูป่ากลับไปสมบูรณ์ดังเดิม

แฟ้มภาพ
นับเป็นระยะเวลานานเกือบ 4 ปี จากวันที่ 29 เม.ย.61 ที่ชาวเชียงใหม่นำโดยเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ออกมารวมตัวกันครั้งประวัติศาสตร์ที่ลานประตูท่าแพ ในตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อแสดงจุดยืนขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ จากโครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 หรือ “บ้านป่าแหว่ง” บนพื้นที่ราชพัสดุ 147 ไร่ เชิงดอยสุเทพ ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ที่ประกอบด้วย บ้านพัก 45 หลัง และอาคารชุด 9 หลัง ซึ่งคณะกรรมการแก้ไขปัญหากรณีการก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 และบ้านพักข้าราชการตุลาการ มีมติร่วมกันแล้วว่าให้ดำเนินการส่งมอบคืนพื้นที่ดังกล่าวเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าของดอยสุเทพที่เป็นดอยศักดิ์สิทธิ์ของชาวเชียงใหม่ให้กลับสมบูรณ์ดังเดิม แต่การดำเนินการต่างๆ ยืดเยื้อมาตลอด เนื่องจากทางกรมธนารักษ์ ระบุว่า จำเป็นต้องพิจารณาข้อกฎหมายอย่างละเอียดรอบคอบในการรับคืน เพราะมีในส่วนของครุภัณฑ์พ่วงมาด้วย จนมีผู้เปรียบเปรยกรณีปัญหานี้ว่าเป็น “มหากาพย์”

แฟ้มภาพ
กระทั่งในที่สุด เมื่อวันที่ 27 เม.ย.65 ที่โครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ และผู้บริหารศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้เป็นตัวแทนทั้ง 2 หน่วยงาน ในการส่งมอบพื้นที่โครงการดังกล่าว โดยถือเป็นการส่งมอบคืนในเฟสแรกในส่วนของบ้านพัก 45 หลัง พื้นที่ประมาณ 85 ไร่ พร้อมด้วยครุภัณฑ์ต่างๆ โดยมีตัวแทนเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ นำโดยนายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่าย และตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนจำนวนหนึ่งร่วมเป็นสักขีพยานด้วย ขณะที่ในส่วนของอาคารชุดที่เหลืออีก 9 หลังนั้นจะมีการดำเนินการต่อไปตามลำดับ


โดยอธิบดีกรมธนารักษ์ ระบุว่า การรับมอบพื้นที่คืนในครั้งนี้ เบื้องต้น เพื่อเป็นการปลดล็อกให้สามารถดำเนินการบริหารจัดการพื้นที่และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ต่อไป ซึ่งจากนี้ทางคณะกรรมการระดับจังหวัดที่มีผู้แทนเครือข่ายร่วมอยู่ด้วย จะไปพิจารณาหารือร่วมกันเพื่อกำหนดรายละเอียดการดำเนินการต่างๆ ต่อไป ให้สอดคล้องตรงความต้องการของประชาชนในพื้นที่ที่เรียกร้อง และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่าย ส่วนครุภัณฑ์ต่างๆ นั้น เมื่อรับมอบแล้วจากนี้มีการดำเนินการตามระเบียบ ทั้งตรวจสอบและตรวจนับ พร้อมส่งมอบให้ส่วนราชการต่างๆ ที่ต้องการนำไปใช้ประโยชน์ หรือหากไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ก็จำหน่ายออกไปตามระเบียบ สำหรับในส่วนของอาคารชุด 9 หลัง ที่เหลือนั้นจะมีการประสานงานและดำเนินการในลำดับต่อไป


ด้านนายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ เปิดเผยว่า นานเกือบ 4 ปี นับจากที่ภาคประชาชนรวมตัวกันออกมาแสดงจุดยืนเรียกร้องจนกระทั่งมีการส่งมอบคืนพื้นที่ ซึ่งรู้สึกดีใจที่ทางกรมธนารักษ์ได้ดำเนินการรับมอบคืนพื้นที่โครงการบ้านพักตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 แล้ว แม้เบื้องต้นจะเป็นในส่วนของบ้านพัก 45 หลัง พื้นที่ประมาณ 85 ไร่ ส่วนอาคารชุดอีก 9 หลัง จะดำเนินการต่อไป โดยต้องขอบคุณทางศาลอุทธรณ์ภาค 5 ด้วยที่ให้ความร่วมมือ ขณะที่ขั้นตอนจากนี้ทางเครือข่ายวางแผนเบื้องต้นว่าประมาณช่วงต้นเดือน มิ.ย.65 จะนำประชาชนชาวเชียงใหม่ร่วมกันทำพิธีฮ้องขวัญ (เรียกขวัญ) ดอยสุเทพ และทำการปลูกป่าพื้นฟูสภาพป่าพื้นที่เชิงดอยสุเทพบริเวณนี้ให้สมบูรณ์ดังเดิม


สำหรับการรื้อถอนบ้านพักทั้งหมดนั้น นายธีระศักดิ์ ย้ำว่า ข้อเรียกร้องของเครือข่ายยืนยันให้ทำการรื้อถอน แต่ติดขั้นตอนและข้อกฎหมาย ซึ่งจะมีการหารือร่วมกันต่อไป ทั้งนี้ในที่สุดแล้วหากไม่สามารถรื้อถอนได้ ทางเครือข่ายจะพิจารณาฟ้องศาลปกครองต่อไป เพื่อให้ปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง ซึ่งมีมติให้รื้อถอนทั้งบ้านพัก 45 หลัง และอาคารชุด 9 หลังออกไป ทั้งในส่วนของอาคารชุด 9 หลัง ที่ยังไม่มีการส่งมอบคืนนั้น จะให้เวลาถึงวันที่ 7 ก.ย.65 ซึ่งเป็นตามกำหนดที่จะย้ายออกไปหลังจากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่จังหวัดเชียงราย ก่อสร้างเสร็จ ตามมติ ครม.ที่จังหวัดลำปาง ซึ่งแม้ในความเป็นจริงเวลานี้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่จังหวัดเชียงรายเพิ่งจะมีความคืบหน้าก่อสร้างไป 10% เท่านั้น และไม่น่าเสร็จทัน แต่ทางเครือข่ายจะขอยึดกำหนดเวลาดังกล่าว


ขณะเดียวกัน ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ระบุด้วยว่า เบื้องต้นทางเครือข่ายกำหนดด้วยว่าอาจจะนัดเคลื่อนไหวใหญ่ในวันที่ 7 ก.ย.65 เพื่อทวงสัญญาและเรียกร้องให้ผู้ที่อยู่อาศัยในอาคารชุดทั้ง 9 หลัง ทยอยย้ายออกไป และส่งมอบพื้นที่ดังกล่าวคืนเพื่อปลูกป่าฟื้นฟูผืนป่าเชิงดอยสุเทพที่ถือเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของเชียงใหม่ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม และลบร่องรอยป่าแหว่งออกไป สำหรับการรื้อถอนบ้านพักดังกล่าวนั้น ปกติตามกฎระเบียบข้อกฎหมาย หากอาคารสิ่งปลูกสร้างถูกทิ้งร้าง 10 ปี สามารถรื้อถอนได้ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นเตรียมขออนุญาตทำการรื้อถอนแท็งก์น้ำสูงนับสิบเมตรออกไปก่อน เพื่อลดทัศนะอุจาด และเตรียมนำร่องทำการปลูกป่าในพื้นที่บ้านพัก 2 หลัง เพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นในระหว่างที่ยังไม่มีการรื้อ แต่จุดยืนหลักยังคงยืนยันให้รื้อ


ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า แม้ว่าเบื้องต้นทางกรมธนารักษ์จะรับมอบคืนพื้นที่ “บ้านป่าแหว่ง” แล้ว อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนเรียกร้องร่วมกันย้ำว่าปัญหากรณี “บ้านป่าแหว่ง” ยังไม่ได้ถูกแก้ไขให้จบสิ้นลงไปแต่อย่างใด หากแต่เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาที่คืบหน้าไปอีกขั้นหนึ่งระหว่างการต่อสู้ที่ผ่านมายาวนานเท่านั้น เพราะหลังจากที่รับคืนพื้นที่มาแล้ว จากนี้ยังจะต้องมีการหารือร่วมกันระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง เพื่อกำหนดแผนการบริหารจัดการพื้นที่และรายละเอียดต่างๆ พร้อมกับการต้องยอมรับความจริงด้วยว่าทุกอย่างไม่มีทางเป็นเรื่องที่ง่ายดาย เห็นได้ชัดเจนจากการที่กว่าจะมีการคืนพื้นที่บ้านพัก 45 หลัง ที่เป็นเพียงเฟสแรกเท่านั้น โดยที่ในส่วนของอาคารชุดอีก 9 หลัง ยังคงต้องรอต่อไป ทางเครือข่ายยังต้องใช้เวลาไปถึง 4 ปี กับการย้ำจุดยืนเรียกร้องให้ส่งมอบคืนพื้นที่ และยาวนานยิ่งกว่านั้นหากนับจุดเริ่มต้นของการทักท้วงเกี่ยวกับการใช้พื้นที่นี้ตั้งแต่ปี 2558

ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดช่วงที่ผ่านมาจึงน่าจะเป็นภาพสะท้อนให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่า มหากาพย์ “บ้านป่าแหว่ง” ไม่น่าจะปิดฉากลงง่ายๆ อย่างแน่นอน และต้องจับตาดูต่อเนื่องไปอย่างใกล้ชิด จนกว่าพื้นที่ทั้งหมดจะได้รับการส่งมอบคืนและฟื้นฟูป่าให้กลับไปสมบูรณ์ดังเดิม สมกับที่ดอยสุเทพเป็นดอยศักดิ์สิทธิ์ของชาวเชียงใหม่








กำลังโหลดความคิดเห็น