xs
xsm
sm
md
lg

เม็ดพลาสติก16ตู้คอนเทนเนอร์ขึ้นรถไฟจากแหลมฉบังข้ามด่านหนองคายตรงไปจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนองคาย-ขนเม็ดพลาสติก 16 ตู้คอนเทนเนอร์ มูลค่ากว่า 20 ล้านบาท ส่งออกด้วยขบวนรถไฟจากแหลมฉบังไปขึ้นขบวนรถไฟลาว-จีนอย่างเป็นทางการ ภาคธุรกิจมองเห็นอนาคตบรรทุกทางรางสดใส สร้างเศรษฐกิจที่ดีให้กับภาคอีสานเป็นแหล่งกระจายสินค้าทางราง


วันนี้ (26 เม.ย. ) ที่สถานีรถไฟหนองคาย อ.เมืองหนองคาย ภาคธุรกิจหลายภาคส่วน ทั้งหอการค้าไทย หอการค้าหนองคาย สภาธุรกิจไทย- ลาว ได้ร่วมกันส่งขบวนบรรทุกสินค้าด้วยระบบรางออกนอกประเทศอย่างเป็นทางการ หลังจากที่ได้มีการทดลองนำสินค้าส่งออกด้วยรถไฟระหว่างประเทศไทย - ลาว ผ่านสถานีหนองคาย – สถานีท่านาแล้ง สปป.ลาว แล้ว ได้พบปัญหาบางประการนำสู่การแก้ไขร่วมกันระหว่างประเทศ ในครั้งนี้ได้นำเม็ดพลาสติกจำนวน 16 ตู้คอนเทนเนอร์ มูลค่าประมาณ 20 ล้านบาท จากแหลมฉบัง ขึ้นขบวนรถไฟมาที่สถานีหนองคาย- สถานีท่านาแล้ง และส่งต่อขึ้นขบวนรถไฟลาว – จีน

นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานหอการค้าไทย กล่าวว่า นับว่าเป็นมิติใหม่ในระบบโลจิสติกส์ เพราะเดิมนั้นไทยใช้ระบบขนส่งทางอากาศ ทางบก และทางเรือ การใช้ทางรางเป็นทางเลือกใหม่ที่จะช่วยประหยัดเงินและรวดเร็ว เป็นเรื่องดี รถไฟลาว – จีน จะเป็นโอกาสดีที่จะสร้างความเจริญให้กับภาคอีสานสามารถทำให้อุดรธานี หนองคาย กลายเป็นศูนย์กลางระบบโลจิสติกส์ได้ ตอนนี้ผู้ประกอบการตื่นตัวทั้งเรื่องการขนส่งและการท่องเที่ยว

ซึ่งด้านการท่องเที่ยวนั้นหลายคนกำลังเฝ้ารอว่าเมื่อไหร่จะเปิดให้มีการท่องเที่ยวได้ หลายฝ่ายพยายามผลักดันให้เดินหน้าด้านการท่องเที่ยวแต่เป็นเรื่องใหม่ที่อาจจะขลุกขลักบ้าง คาดว่าในปีหน้าอาจจะเป็นรูปธรรมมากกว่านี้ นี่เป็นเศรษฐกิจเส้นทางใหม่ที่จะสร้างความมั่งคั่งให้กับภาคอีสานได้


ด้านนายภานุศักดิ์ สายพานิช นายกสมาคมทุเรียนไทย กล่าวว่า วันนี้มาดูการขนส่งระบบราง ซึ่งคาดหวังจะส่งออกผลไม้ไปต่างประเทศ โดยเฉพาะทุเรียน ปัจจุบันเห็นว่าการขนส่งทางบก เช่น ทางรถที่ผ่านชายแดนเวียดนาม เข้าจีนติดขัด ทำให้ผลไม้ตกค้างได้รับความเสียหาย และไม่สามารถไปได้ เมื่อมีการเปลี่ยนเส้นทางเดินรถเข้าทางบ่อเต็น – โม่ฮาน ก็เกิดปัญหาติดขัด เมื่อมีผลไม้ออกสู่ท้องตลาดมาก ก็จะเกิดการติดขัด

ดังนั้นจึงคาดหวังว่าการขนส่งทางรางจะเป็นทางเลือกที่ดีที่จะช่วยแบ่งเบาจำนวนการแออัดหรือรอตู้คอนเทนเนอร์ จะช่วยบรรเทาความแออัดลงไปได้ อีกทั้งยังได้นำทุเรียนพรีเมียมของไทยไปมอบให้กับ สปป.ลาว และเอกอัครราชทูตไทย ณ เวียงจันทน์ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ด้วย ทำอย่างไรในอนาคตการเดินทางด้วยรถไฟจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด

นางมนนิภา โกวิทศิริกุล ประธานหอการค้า จ.หนองคาย กล่าวว่า แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่มีสะพานเชื่อมรถไฟลาวจีน การขนส่งที่ออกไปทางเชียงของ หรือ นครพนม ก็หันมาส่งออกทางด้านหนองคายโดยทางรางมากขึ้น จ.หนองคาย มีธุรกิจโลจิสติกส์ที่จะสามารถเชื่อมต่อไปทางรถไฟลาวจีนได้ หอการค้าต้องการให้รัฐบาลเร่งทำรถไฟรางคูให้ได้เร็วที่สุด และสะพานรถไฟที่จะเชื่อมต่อกับรถไฟจีน รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ รองรับการเจริญเติบโตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต


ด้าน ดร.จตุรงค์ บุนนาค ประธานสภาธุรกิจไทย – ลาว กล่าวว่า รถไฟลาว -จีน ในปัจจุบันมีประโยชน์มาก แต่ยังมีปัญหาอุปสรรคอยู่บ้างแต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี คงต้องใช้รูปแบบการผสมผสานหรือ multi modern transport เป็นการใช้รถและรางควบคู่กัน มีการขนส่งสินค้าเม็ดพลาสติกจากมาบตาพุดไปที่ลาว แล้วเปลี่ยนจากรถไฟไทย – ลาว เป็นรถไฟลาว – จีน นำสินค้าเม็ดพลาสติกส่งต่อไปจีน

แต่ส่วนของผักผลไม้ยังติดขัดปัญหาบางอย่าง ที่ผ่านมาใช้รูปแบบขนส่งทางรางแล้วขึ้นรถยนต์ นำขึ้นสถานีรถไฟนาเพยก่อนจะมุ่งหน้าไปจีน ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จ

หลังจากนี้รูปแบบการขนส่งจะใช้รูปแบบทางรางมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเชื่อมต่อระบบ missing link ไม่ว่าจะเป็นรถไฟ หรือ รถไฟความเร็วสูงกับรถไฟ ระบบรางเชื่อมั่นว่าจะประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง 30-60 เปอร์เซ็นต์.


กำลังโหลดความคิดเห็น