xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มชมรมผู้เลี้ยงโค-กระบือ ต.คลองวาฬ เพิ่มมูลค่าพ่อแม่พันธุ์วัวจากตัวละหมื่นสู่ตัวละล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประจวบคีรีขันธ์ - กลุ่มชมรมผู้เลี้ยงโค-กระบือ ต.คลองวาฬ ประจวบคีรีขันธ์ จัดโชว์แสดงสายพันธุ์โค-กระบือ พ่อแม่พันธุ์วัว จากตัวละหมื่นสู่ตัวละล้าน เพื่อส่งเสริมเกษตรกรให้หันมาเลี้ยงโคพันธุ์ผสมที่มีคุณภาพ และได้ราคาจากโคพันธุ์พื้นเมือง

วันนี้ (9 เม.ย.) กลุ่มชมรมผู้เลี้ยงโค-กระบือ ต.คลองวาฬ อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ จัดโชว์แสดงสายพันธุ์โค-กระบือ เพื่อส่งเสริมเกษตรกรให้หันมาเลี้ยงโคพันธุ์ผสมที่มีคุณภาพและได้ราคาจากโคพันธุ์พื้นเมือง ที่ลานวัว หมู่ 8 บ้านนาทอง ต.คลองวาฬ อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ โดยมีนายธีรศักดิ์ นาคใหญ่ ปศุสัตว์อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ นายสมชาย ปี่แก้ว นายก อบต.คลองวาฬ นายวิเชียร เคลือบอาบ ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงโคตำบลคลองวาฬ นายพิทยา จันทร์แก้ว เกษตรกรรายใหญ่ในตำบลคลองวาฬ ผู้จัดลานวัวโชว์ โดยมีพ่อแม่พันธุ์วัวกว่า 50 ตัว จากหลากหลายพื้นที่ร่วมงาน และเกษตรกรที่สนใจแลกเปลี่ยนพัฒนาสายพันธุ์วัว

สำหรับงานแสดงโค-กระบือเป็นครั้งแรกในอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรมีความรู้ทางวิชาการในเลี้ยงโคอย่างเป็นระบบ และพัฒนาสายพันธุ์วัวให้มีคุณภาพเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ มีขนาดใหญ่ ได้ปริมาณเนื้อมาก

นายธีรศักดิ์ นาคใหญ่ ปศุสัตว์อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า พื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ถือเป็นแหล่งเลี้ยงโคเนื้อ โคนม และกระบือเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศ และข้อได้เปรียบคือ เกษตรกรสามารถเลี้ยงโคในพื้นที่เกษตรกรรมได้ โดยเฉพาะการเลี้ยงในสวนมะพร้าว ซึ่งประจวบคีรีขันธ์เป็นพื้นที่ปลูกมะพร้าวและสับปะรดมากที่สุดในประเทศ ทำให้โคกินหญ้าในแปลงปลูกมะพร้าว จึงมีต้นทุนในการเลี้ยงต่ำและยังมีอาหารเสริม เช่น เปลือกสับปะรด ที่ได้จากการแปรรูปสับปะรดกระป๋องจากโรงงานมีราคาต่ำกว่าจังหวัดอื่นๆ

และการพัฒนาสายพันธุ์ทำให้วัวมีขนาดใหญ่ เติบโตง่าย ทนทานโรค ซึ่งเกษตรกรในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีการเลี้ยงวัวสายพันธุ์ พันธุ์บราห์มัน พันธุ์ชาร์โรเลส์ พันธุ์ฮินดูบราซิล และโคพันธุ์พื้นเมืองหรือโคไทย โดยมีการผสมแต่ละสายพันธุ์จนได้รูปร่างที่เหมาะสม เป็นที่ต้องการของตลาด

นายวิเชียร เคลือบอาบ ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงโคตำบลคลองวาฬ กล่าวว่า โคสายพันธุ์หลักที่เกษตรกรเลี้ยงคือ พันธุ์บราห์มัน พันธุ์ชาร์โรเลส์ พันธุ์ฮินดูบราซิล บางบ้านเลี้ยงเพียง 1-2 ตัว ส่วนเกษตรกรที่มีกำลังจะเลี้ยงประมาณ 10-20 ตัว เนื่องจากวัวสายพันธุ์เหล่านี้มีราคาแพงโดยเฉพาะลูกวัวแรกเกิด ราคาตั้งแต่ 3 หมื่น ถึงแสนกว่าบาท หากเกษตรกรนำมาผสมพันธุ์กับวัวพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งข้อได้เปรียบคือวัวไทยทนอากาศ ทนโรค และแข็งแรง เมื่อเกิดลูกและขยายพันธุ์จากรุ่นสู่รุ่น สามารถสร้างมูลค่าจากหลักหมื่นสู่หลักแสนต่อตัว แต่หากเป็นพ่อแม่พันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ มีความสวยงาม จะมีราคากว่า 1 ล้านบาทถึงหลายล้านต่อตัว การส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาเลี้ยงวัวให้เหมาะกับสายพันธุ์จึงสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เติบโต

สำหรับงานโชว์โคกระบือครั้งนี้ มีเกษตรในพื้นที่และต่างพื้นที่นำโคมาโชว์ ซึ่งตัวที่มีราคาสูงสุดเป็นโคเพศเมีย ชื่อเจนนิเฟอร์ พันธุ์ชาร์โรโลส์ อายุ 21 เดือน ราคา 450,000 บาท จากทีเคพรศิริฟาร์ม อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์








กำลังโหลดความคิดเห็น