xs
xsm
sm
md
lg

อากาศแปรปรวนทำชาวสวนทุเรียนเมืองตราดเร่งใช้เชือกฟาง “เต้าลูกทุเรียน” ป้องกันร่วงเสียหาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




ศูนย์ข่าวศรีราชา -
 สภาพอากาศแปรปรวน ทำชาวสวนทุเรียนเมืองตราดเร่งใช้เชือกฟาง “เต้าลูกทุเรียน” ป้องกันการร่วงหล่นก่อนถึงวันตัด ด้านเกษตรจังหวัดตราด วอนชาวสวน และมือมีดเลือกตัดเฉพาะผลผลิตคุณภาพออกสู่ตลาดเท่านั้น

จากกรณีที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกมาเปิดเผยถึงสภาพอากาศแปรปรวนที่เกิดขึ้นในประเทศไทยว่า เป็นผลมาจากอิทธิพลของความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนที่แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูร้อน จึงทำให้ในช่วงกลางวันสภาพอากาศจะร้อนถึงร้อนจัด บางวันมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลงและมีลมแรงนั้น

วันนี้ (4 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวได้เดินทางลงพื้นที่สำรวจสวนทุเรียนใน จ.ตราด ที่ขณะนี้กำลังมีผลผลิตทุเรียนพันธุ์หมอนทองล็อตแรก ซึ่งพร้อมตัดออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก โดยพบเกษตรกรส่วนใหญ่เริ่มทำการ “เต้าทุเรียน” เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกร่วง ขั้วฉีกขาดจากสภาพพายุฝนและลมแรง เนื่องจากหากปล่อยให้ลูกร่วงหล่นจะถูกกดราคารับซื้อจากล้ง และพ่อค้าคนกลางได้

โดยเจ้าของสวนทุเรียนรายหนึ่งในพื้นที่บ้านอ่าวยาง ต.อ่าวใหญ่ อ.เมืองตราด บอกว่าอากาศที่แปรปรวนทำให้ต้นทุเรียนที่ยังไม่ถึงเวลาตัดเสี่ยงต่อการได้รับความเสียหาย ทำให้ชาวสวนต้องเร่งจ้างแรงงานฝีมือเข้าทำการ “เต้าทุเรียน” ทุกต้น เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกร่วง ขั้วฉีกขาด


ทั้งนี้ การ“เต้าทุเรียน” ชาวสวนจะใช้เชือกฟางผูกมัดทุเรียนไม่ให้กวัดแกว่งเมื่อเจอพายุฝนลมแรง แต่ต้องใช้แรงงานฝีมือ ซึ่งบางรายจะคิดค่าดำเนินการแบบลูกต่อลูก เพราะวิธีการใช้เชือกมัดทุเรียนต้องทำทีละลูกโดยละเอียดและรอบคอบ

แต่หากทำการมัดทุเรียนรวมกันทุกลูก เมื่อเจอลมแรงจะทำให้ร่วงหล่นเสียหาย เนื่องจากลูกทุเรียนเมื่อใกล้ถึงช่วงเวลาตัดจะมีน้ำหนักประมาณ 4-5 กิโลกรัมต่อลูก

“หากพายุมาพัดลูกทุเรียนร่วงหล่นจะไม่มีใครรับซื้อ ดังนั้น เกษตรกรจึงต้องเร่งจ้างแรงงานเข้ามา “เต้าทุเรียน” ให้ทันก่อนที่พายุจะมา ทั้งนี้ หากเกษตรกรทุกส่วนดูแลผลผลิตให้ดี เนื้อทุเรียนจะดี ไม่ว่าจะส่งขายในประเทศหรือนอกประเทศราคาย่อมดีตามไปด้วย” เจ้าของสวน กล่าว


ด้าน นายชยุทธกฤดิ นนทแก้ว เกษตรจังหวัดตราด เปิดเผยว่า ขณะนี้ในพื้นที่ จ.ระยอง จันทบรี และตราด มีทุเรียนพันธุ์หมอนทองใกล้ครบกำหนดตัดเป็นจำนวนมาก แต่ยังพบว่ามีการลอบตัดทุเรียนด้อยคุณภาพช่วงต้นฤดูออกขายอยู่บ่อยครั้ง

ขณะที่ในพื้นที่ จ.ตราด ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง จะสุกเร็วก่อนพื้นที่อื่น และชาวสวนนิยมขายแบบราคาเหมา หรือที่เรียกว่า “คว่ำหนาม” ซึ่งพ่อค้าคนกลางจะพามือมีดเข้าไปตัดถึงสวน และมักตัดแบบรอบเดียวส่งล้ง เนื่องจากราคาหน้าล้งช่วงต้นฤดูจะให้ผลตอบแทนจำนวนมาก จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่อาจทำให้มีทุเรียนอ่อนปะปน

“แม้แต่การทำสัญญาซื้อขายทุเรียนระหว่างล้งกับชาวสวน หน่วยงานเกษตรไม่สามารถเข้าไปรับรู้ด้วยได้เนื่องจากเป็นการตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ทุกวันนี้จึงทำได้แค่เตือนเรื่องมาตรฐาน เพราะแม้ที่ผ่านมา จ.ตราด จะมีการตั้งด่านตรวจและพูดคุยับเกษตรกรชาวสวนให้รักษาชื่อเสียงทุเรียนไทย แต่สุดท้ายพบว่ามีทุเรียนอ่อนเล็ดลอดออกไปได้”

อย่างไรก็ดี เกษตรจังหวัดตราดยังได้ฝากชื่นชมไปยังเจ้าหน้าที่ทีมเล็บเหยี่ยว จ.จันทบุรี ที่ดำเนินการตรวจสอบทุเรียนอ่อนไม่ให้ถูกลอบนำออกขายต่างประเทศได้อย่างเข้มงวด


ส่วนการตรวจสอบทุเรียนด้อยคุณภาพใน จ.ตราด ขณะนี้จากการตรวจสอบในช่วง 7 วันที่ผ่านมาเกือบ 1,000 ตัวอย่าง พบทุเรียนบางลูกแม้ลักษณะหนามจะบอกว่าสามารถตัดได้ เมื่อตรวจสอบเนื้อพบว่ามีสีที่เหมาะสม แต่เมื่อนำไปวัดเปอร์เซ็นต์แป้งกลับไม่ได้มาตรฐานตามที่กำหนด

“อีกสิ่งที่อยากฝากถึงมือตัดทุเรียน ว่า ในวันนี้จะดูแต่หนามอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องเข้มงวดเรื่องการกำหนดวันตัดให้ครบ120 วัน และยังขอร้องไปยังผู้ผลิตทุเรียนทุกสวนว่าจะต้องมีความตั้งใจในกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อไม่ให้มีการตัดทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด” เกษตรจังหวัดตราด กล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น