สามเหลี่ยมทองคำ - สำรวจน้ำโขงหลังสิ้นยุคโจรสลัด “หน่อคำ” ที่เคยก่อเหตุปล้นฆ่าลูกเรือจีน 13 ศพ วันนี้ยังซมพิษโควิด-ภาคีคู่ค้าปิดท่าเรือริมฝั่งยาว ภาคเอกชนชงรัฐเร่งฟื้นสภาพเส้นทางการค้า หลังจีนเริ่มทยอยเปิดพรมแดนทางบกติดพม่า-ลาว-เวียดนาม
นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทางการ สปป.ลาว และมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ได้ปิดท่าเรือพรมแดนริมแม่น้ำโขงตลอดแนวมาตั้งแต่ปลายปี 2562 มีเพียงท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ 1 และแห่งที่ 2 อ.เชียงแสน และท่าเรือบางแห่งของประเทศพม่า เช่น ท่าเรือบ้านโป่ง จ.ท่าขี้เหล็ก เท่านั้นที่ยังคงเปิดรองรับการขนส่งสินค้า แต่บรรยากาศก็ซบเซา
เนื่องจากท่าเรือสำคัญใน สปป.ลาว และจีนตอนใต้ ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยถูกปิดบริการ ปัจจุบัน น้ำโขงตอนบนจึงมีเพียงเรือบรรทุกสินค้าขนาดเล็กและกลางแล่นไปมาประปราย
อย่างไรก็ตาม ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดในแม่น้ำโขง (ศปปข.) ของ สป.จีน ยังคงร่วมกับประเทศภาคีลุ่มน้ำโขงตอนบนลาดตระเวนเพื่อดูแลความปลอดภัยในการเดินเรือตามปกติ โดยส่งตำรวจจีนตั้งฐานปฏิบัติการ ศปปข.อยู่ที่เมืองลอง แขวงหลวงน้ำทา-เมืองมอม แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว
ทั้งนี้ การร่วมลาดตระเวนทางเรือแม่น้ำโขงตอนบน หรือสามเหลี่ยมทองคำ มีขึ้นมาตั้งแต่ปี 2556 หลังเกิดเหตุกองกำลังโจรสลัดน้ำโขงนำโดย “นายหน่อคำ” ปล้นเรือจีน 2 ลำ สังหารลูกเรือชาวจีน 13 ศพ กลางน้ำโขงเขตบ้านสามภู จ.ท่าขี้เหล็ก ห่างจากสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน ไปทางทิศเหนือประมาณ 17 กิโลเมตร
ต่อมา ทางการจีนได้ส่งกำลังเข้าปฏิบัติการร่วมกับทางการประเทศภาคี เข้าจับกุมนายหน่อคำ พร้อมพวก ก่อนส่งตัวไปดำเนินคดี ซึ่งศาลพิพากษาประหารชีวิตที่มณฑลยูนนานแล้ว หลังเกิดเหตุเพียงประมาณ 6 เดือน
แหล่งข่าวชายแดน กล่าวว่า แม้เรื่องหน่อคำจะยุติลง แต่ยังคงเป็นที่กล่าวขานถึงความน่ากลัวในอดีตมาจนถึงทุกวันนี้ ขณะเรือที่เคยถูกปล้นชื่อเรือหยู ชิง ปา เห่า และเรือหัวปิง ได้ถูกเจ้าของใหม่นำไปเปลี่ยนชื่อ ดัดแปลงเป็นเรือขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงและเรือขนสินค้าทั่วไปแล้ว แต่มีกระแสข่าวว่าเรือลำหนึ่งจอดอยู่ที่ท่าเรือตรงเกาะดอนซาว เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ตรงกันข้าม อ.เชียงแสน อีกลำเกยตื้นอยู่ที่เกาะกลางแม่น้ำโขงในฝั่ง สปป.ลาว ห่างจากเรือลำแรกเพียงเล็กน้อย
ด้าน น.ส.ผกายมาศ เวียร์รา รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย และนักธุรกิจลุ่มแม่น้ำโขง เปิดเผยว่า ก่อนเกิดเหตุการณ์เรือจีน 2 ลำถูกปล้นและฆ่าลูกเรือเมื่อปี 2554 มีเหตุการณ์ไม่สงบในแม่น้ำโขงหลายครั้ง โดยมีกองกำลังติดอาวุธเข้าปล้นจี้เรือแล้วเอาทรัพย์สิน
แต่หลังจากมีการปราบปรามกลุ่มติดอาวุธดังกล่าว และมีการลาดตระเวนร่วมในแม่น้ำโขงตลอด 10 ปี ทำให้สถานการณ์การเดินเรือเป็นไปอย่างปกติ ปัจจุบันถือได้ว่ามีความปลอดภัย เพียงแต่หลังเกิดวิกฤตโควิด-19 ทางการจีนได้ปิดท่าเรือกวนเหล่ย ซึ่งเป็นเมืองท่าหน้าด่านของจีนยาวนานร่วม 2-3 ปีแล้ว ประกอบกับทาง สปป.ลาว ก็ปิดท่าเรือตลอดแนว ทำให้สถานการณ์การค้าชายแดนที่เคยมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นกลับซบเซาลงมาก
น.ส.ผกายมาศ กล่าวว่า ดังนั้นการที่ สป.จีน เริ่มมีการเปิดด่านทางบกต่างๆ ทั้งที่ชายแดนเวียดนาม-จีน สปป.ลาว-จีน และล่าสุด พม่า-จีน เพื่อการขนส่งสินค้าแล้ว ไทยเราในฐานะคู่ค้าจึงควรจะผลักดันให้ทางการจีนเปิดท่าเรือกวนเหล่ยเพื่อให้การค้าทางเรือแม่น้ำโขงกลับมาเหมือนเดิมด้วย เพื่อส่งเสริมให้สินค้าไทยส่งออก เนื่องจากขณะนี้มีนักธุรกิจชาวจีนติดต่อหาซื้อสินค้าประเภทอาหารอย่างต่อเนื่อง เพราะภายในประเทศจีนมีความต้องการอาหารอย่างหนัก
โดยตนเสนอให้รัฐบาลไทยใช้กรอบความร่วมมือทุกอย่างในการหารือ ทั้งเวทีความร่วมมือตามข้อตกลงการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำโขง-ล้านช้าง 4 ชาติ คณะกรรมการร่วมเพื่อประสานการด้าเนินการตามความตกลง 4 ฝ่ายว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้้าล้านช้าง-แม่น้้าโขง หรือ Joint Committee on Coordination of Commercial Navigation on the Lancang-Mekong River (JCCCN) การลงนามเป็น Sister city ระหว่าง จ.เชียงราย และมณฑลยูนนาน คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ Mekong River Commission (MRC)
“ที่ผ่านมา การหารือจะผ่านระบบหน่วยงานกระทรวงต่างๆ เท่านั้น แต่ยังไม่ได้หารือถึงระดับรัฐบาลกลางของจีน ดังนั้น การใช้กรอบความร่วมมือทุกอย่าง หรือแม่แต่ระดับรัฐบาลต่อรัฐบาลก็ควรมีการดำเนินการเพื่อให้การเชื่อมโยงระหว่างไทย-จีน ทางเรือแม่น้ำโขงกลับมามีอีกครั้ง”
ทั้งนี้ สำนักงานพาณิชย์ จ.เชียงราย รายงานว่าในปี 2564 ที่ผ่านมา มีการส่งออกผ่านด่านศุลกากรเชียงแสน 7,512,929,645.96 บาท นำเข้า 411,388,551.08 บาท และเดือน ม.ค.2565 มีการส่งออก 538,792,779.62 บาท นำเข้า 22,117,245.64 บาท เดือน ก.พ.2565 มีการส่งออก 354,883,199.63 บาท นำเข้ามูลค่า 13,933,701.23 บาท สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง อาหารส่วนสินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็นเปลือกบง ชาผง เศษเหล็ก