ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - กองทัพภาคที่ 2 เตรียมพร้อมตรวจคัดเลือกทหารกองเกินฯ ปี 2565 พร้อมกัน 20 จังหวัดภาคอีสาน 1-20 เม.ย.นี้ เผยปีนี้ ทภ.2 ต้องการคนเข้ารับทหารกองประจำการ 30,047 นาย แม่ทัพภาคที่ 2 เตือน ปชช.อย่าหลงเชื่อผู้ใดอ้างช่วยเหลือให้ไม่ต้องเข้ารับการตรวจเลือกได้โดยไม่มีความผิด ย้ำ “สด.43W ต้องได้รับจากปธ.กก.ตรวจเลือกในวันตรวจเลือกเท่านั้น
วันนี้ (29 มี.ค.) พล.ท.สวราชย์ แสงผล แม่ทัพภาคที่ 2 (มทภ.2) เป็นประธานเปิดการปฐมนิเทศการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ประจำปี 2565 ตามที่กองทัพบกจะทำการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการ ระหว่างวันที่ 1-20 เมษายน 2565 (เว้นวันที่ 6 และ 13-15 เม.ย. 65)
โดยทางกองทัพภาคที่ 2 (ทภ.2) ได้เตรียมความพร้อม ทั้งบุคลากร สถานที่ ระบบการบริหารจัดการ ที่กระชับรวดเร็ว เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้เข้ารับการตรวจเลือกอย่างเต็มที่ ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 รวมทั้งคณะกรรมการตรวจเลือก ที่จะดำเนินการพร้อมกันใน 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ทั้งนี้ ผู้ที่จะต้องเข้ารับการตรวจเลือกทหารในปีนี้ ได้แก่ ชายไทยที่เกิด พ.ศ. 2544 (อายุครบ 21 ปีบริบูรณ์) กับผู้ที่เกิด พ.ศ. 2536-2543 (อายุ 22-29 ปี ที่ยังไม่เคยเข้ารับการตรวจเลือก หรือการตรวจเลือกยังไม่แล้วเสร็จ) สำหรับความต้องการคนเข้ากองประจำการ จาก ทภ.2 จำนวน 30,047 คน หรือร้อยละ 25.90 ซึ่งเป็นสัดส่วนเท่ากันทั่วประเทศ ลดลงจากปี 2564 จำนวน 9,871 คน จากนโยบายการลดกำลังพลประเภททหารกองประจำการของกองทัพบก และการให้โอกาสรับราชการต่อของทหารที่สมัครใจ รวมถึงการรับสมัครทหารออนไลน์ที่ได้คัดเลือกตัวไว้แล้ว
โดยมีขั้นตอนการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ประจำปี 2565 ดังนี้
1. การเปิดการตรวจเลือกฯ เริ่มตั้งแต่เวลา 07.00 น. มีการรวมแถวเคารพธงชาติ อ่านสารของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และชี้แจงการปฏิบัติของทหารกองเกินที่มาเข้ารับการตรวจเลือกฯ
2. การเรียกชื่อ การตรวจร่างกาย วัดขนาดและกำหนดคนเป็นจำพวก จะเป็นการดำเนินการภายในสถานที่ตรวจเลือก ที่ต้องมีการเรียกชื่อ ตรวจสอบตัวบุคคล ตรวจร่างกาย วัดขนาด เป็นการคัดคนที่สมบูรณ์แข็งแรงและได้ขนาดเข้าเป็นทหารต่อไป
3. การตรวจสอบและปล่อยตัว สำหรับคนที่ร่างกายไม่สมบูรณ์หรือไม่ได้ขนาดจากขั้นตอนที่ 2 ก็จะทำการปล่อยตัวตามหลักเกณฑ์ในขั้นตอนนี้ โดยจะมอบใบรับรองผลการตรวจเลือกฯ (แบบ สด.43) ให้เป็นหลักฐาน
4. การกำหนดคนเข้ากองประจำการ ขั้นตอนนี้จะเป็นการระบุตัวบุคคลว่าใครจะต้องเข้ารับราชการเป็นทหารแผนกใด ผลัดใด สังกัดที่ไหน มีสิทธิได้รับการลดวันรับราชการหรือไม่ อย่างไร โดยผู้ที่ร้องขอฯ จะดำเนินการแล้วเสร็จได้ก่อนผู้ที่จับได้สลากแดง แต่ในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ กว่าที่จะทำการตรวจเลือกฯ นี้มีหลายขั้นตอนมาก โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคระบาดเช่นนี้ โดยแบ่งเป็นการดำเนินการก่อน ระหว่าง และหลังการตรวจเลือก
พล.ท.สวราชย์ แสงผล แม่ทัพภาคที่ 2 กล่าวว่า สำหรับมาตรการป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้เตรียมการดังนี้ กองทัพบก โดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กองทัพบกได้กำหนดมาตรการให้ทุกส่วนได้ปฏิบัติอย่างเข้มงวดตามหลักการ DMHTT ของสาธารณสุขแล้ว นอกจากนั้นยังได้เพิ่มเติมรายละเอียดการปฏิบัติหลายเรื่อง เช่น การเรียกคนเข้ารับการตรวจเลือกฯ วันหนึ่งไม่เกิน 500 คน การเลือกใช้สถานที่ตรวจเลือกฯ เป็นที่โปร่ง โล่งอากาศถ่ายเทได้ดี และไม่ใช้ห้องปรับอากาศ รวมทั้งการกำหนดวิธีการตรวจเลือกฯ เพื่อลดความคับคั่งของคนที่มาเข้าตรวจเลือกฯ การขอความร่วมมือญาติพี่น้องทหารให้งดการเดินทางมาในวันตรวจเลือก
นอกจากนี้ตนได้สั่งการเพิ่มเติมให้ 1. คณะกรรมการตรวจเลือกฯ ทำการกักตัวก่อนทำหน้าที่ 7 วัน และมีการตรวจคัดกรองหาเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK เป็นระยะๆ ทั้งก่อน ระหว่าง หลังวันปฏิบัติหน้าที่ รวม 6 ครั้ง 2. ให้แต่ละจังหวัด หรือมณฑลทหารบก จัดการประชุมร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อของจังหวัด เพื่อกำหนดมาตรการที่เหมาะสมของแต่ละพื้นที่
3. ให้จังหวัดที่ทำการตรวจเลือกในห้างสรรพสินค้า ประสานกับทางห้างฯ ให้ใช้สถานที่เป็นลานจอดรถยนต์ที่เป็นที่เปิดโล่ง ไม่มีเครื่องปรับอากาศ แทนการใช้ฮอลล์ หรือห้องโถงภายในห้างที่กำหนดไว้เดิม 4. ให้กรรมการตรวจเลือก ที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดกับตัวทหารกองเกิน สวมใส่ชุดป้องกันโรค (PPE) ในระหว่างที่ทำหน้าที่ตรวจเลือก เช่น กรรมการผู้วัดขนาดร่างกาย หรือกรรมการที่ดูแลการจับสลาก
5. การจัดคณะกรรมการตรวจเลือกชุดสำรอง จากเดิมจัดไว้ 4 คณะ ให้จัดเพิ่มเป็น 13 คณะ โดยให้พร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ทดแทนกัน สำหรับการสับเปลี่ยนตัว มีนโยบายให้เปลี่ยนตัวเฉพาะผู้ที่มีอาการหรือติดเชื้อ เว้นแต่มีคณะกรรมการติดเชื้อมากกว่า 50% จึงให้เปลี่ยนทั้งคณะ
พล.ท.สวราชย์กล่าวต่อว่า ในเรื่องการส่งเสริมทหารกองประจำการ เพื่อต่อยอดเป็นทหารอาชีพ กองทัพบกมีนโยบายส่งเสริมความก้าวหน้าให้กับทหารกองประจำการ เป็นเรื่องที่กองทัพบกคำนึงถึงและกำหนดเป็นนโยบายใหม่ๆ ออกมาตลอดเวลา ณ ปัจจุบันนี้การรับนักเรียนนายสิบรับจากทหารกองประจำการ ร้อยละ 80 และรับจากพลเรือน ร้อยละ 20 สำหรับนักเรียนนายสิบของเหล่ารบหลักจะรับจากทหารกองประจำการทั้งหมด
นอกจากนี้ ผู้ที่ปลดเป็นทหารกองหนุนแล้ว หากประสงค์จะเข้ารับราชการในหน่วยต่างๆ ของกองทัพบกที่เปิดรับ ยังมีสิทธิได้รับคะแนนเพิ่มพิเศษร้อยละ 10 หรือถ้าเป็นทหารจากการสมัครใจตามโครงการทหารออนไลน์ ยังจะได้รับคะแนนเพิ่มอีก ร้อยละ 5 ด้วย
“อีกเรื่องที่อยากฝากให้สื่อมวลชนได้ช่วยกันเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือนให้พี่น้องประชาชนอย่าหลงเชื่อว่าจะมีผู้ใดสามารถช่วยเหลือให้ไม่ต้องเข้ารับการตรวจเลือกโดยไม่มีความผิดได้ และขอย้ำว่า ใบรับรองผลการตรวจเลือก (สด.43) จะต้องได้รับจากประธานกรรมการตรวจเลือกในวันตรวจเลือกเท่านั้น หากได้รับจากบุคคลอื่น หรือวันอื่นถือว่าเป็นเอกสารที่ทางราชการไม่ได้ออกให้ ไม่สามารถที่จะนำไปแสดงในการสมัครงาน หรือใช้ในกรณีอื่นได้” พล.ท.สวราชย์กล่าวย้ำในตอนท้าย