กาญจนบุรี - อาจารย์สาขาวิทยาศาสตร์ การเกษตร ม.มหิดล เผยผลการวิจัยพบต้นกานพลูและขมิ้นต้านเชื้อสาเหตุโรคของผักคะน้า
วันนี้ (18 มี.ค.) อาจารย์ ดร.ประไพพิศ สุวิทย์ชยานนท์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี เปิดเผยผลการวิจัย พบว่า “สารสกัดจากกานพลูและขมิ้นสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อสาเหตุโรคในคะน้าได้ ส่งผลให้ปริมาณเชื้อที่สามารถเข้าทำลายพืชลดลง การเกิดโรคจึงลดลงตาม ซึ่งผักคะน้า (Chinese kale) จัดเป็นพืชผักเศรษฐกิจของไทยและได้รับความนิยมในการบริโภค
เนื่องจากเพาะปลูกง่าย ปลูกได้ตลอดทั้งปี มีรสชาติดีและคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยโรคที่มักพบและสร้างความเสียหายทำให้ผลผลิตผักคะน้าลดลง ได้แก่ โรคเน่าคอดิน (Damping-off) โรคเน่าดำ (Black rot) โรคใบจุด (Leaf spot) และโรคเหี่ยว (Fusarium wilt) โดยสาเหตุโรคดังกล่าวสามารถอยู่อาศัยในดินและในเศษศากพืชได้เป็นระยะเวลาหลายปี เมื่อสภาพแวดล้อมมีความเหมาะสมต่อการเจริญของเชื้อ ประกอบกับพืชอาศัยไม่มีความต้านทานหรืออ่อนแอ เชื้อจะเข้าทำลายและสร้างความเสียหายแก่คะน้า การใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดเป็นวิธีการที่เห็นผลรวดเร็ว
แต่การใช้สารเคมีเป็นประจำอาจส่งเสริมให้เชื้อที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นๆ พัฒนาความต้านทานต่อสารเคมีได้ อีกทั้งการใช้สารเคมียังอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรผู้ใช้ เกิดการตกค้างของสารพิษในดินทำให้ดินเสื่อมสภาพเร็ว ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตดีชนิดอื่นๆ ที่อยู่ในบริเวณนั้น
สำหรับการควบคุมโรคพืชโดยชีววิธี เป็นการใช้สิ่งมีชีวิตหรือชิ้นส่วนของสิ่งมีชีวิต ตลอดจนการใช้สารสกัดจากธรรมชาติเพื่อลดปริมาณเชื้อสาเหตุโรคเป็นผลให้อัตราการเกิดโรคพืชลดลง อีกทั้งยังมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้และสภาพแวดล้อม เนื่องจากสามารถย่อยสลายในธรรมชาติได้ ทั้งนี้ การใช้ชีววิธีในการควบคุมโรคพืชนั้นจำเป็นที่จะต้องใช้ในลักษณะการป้องกันก่อนการเกิดโรค เพื่อลดปริมาณเชื้อสาเหตุที่อาศัยอยู่ในสภาพธรรมชาติให้น้อยลงเพื่อป้องกันการเข้าทำลายและการแพร่ระบาด ดังนั้น งานวิจัยชิ้นนี้ได้ทดลองนำสารสกัดจากกานพลู และขมิ้นซึ่งมีจำหน่ายทั่วไปมาทดสอบความสามารถในการลดจำนวนเชื้อสาเหตุโรคพืชของคะน้าเพื่อการประยุกต์ใช้ต่อไป
อาจารย์ ดร.ประไพพิศ สุวิทย์ชยานนท์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ได้กล่าวสรุปว่า “หลังจากที่ได้นำ กานพลู และขมิ้นมาทำการศึกษาวิจัย จากผลการทดลองพบว่าสารสกัดจากกานพลูและขมิ้นสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อสาเหตุโรคในผักคะน้าได้ ส่งผลให้ปริมาณเชื้อที่สามารถเข้าทำลายพืชลดลง การเกิดโรคจึงลดลงตาม การพิจารณาค่า MIC90 บ่งชี้ว่าเชื้อแบคทีเรีย X.campestris มีความอ่อนแอต่อสารสกัดทั้ง 2 ชนิดมากกว่าเชื้อรา และมีฤทธิ์ยับยั้ง P.aphanidermatum สาเหตุโรคเน่าคอดินได้มากที่สุดในกลุ่มเชื้อรา ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าสารสกัดขมิ้นมีแนวโน้มที่จะสามารถใช้ป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียของผักคะน้า และสารสกัดจากกานพลูมีแนวโน้มในการใช้ป้องกันโรคที่เกิดจาเชื้อราได้ดี
ทั้งนี้ อาจารย์ ดร.ประไพพิศ สุวิทย์ชยานนท์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ได้กล่าวตอนท้ายว่า “สำหรับวิธีการใช้ควรใช้สารสกัดทั้ง 2 ชนิดในระยะที่พืชโตแล้ว สามารถใช้ราดดินหรือพ่นบริเวณใบคะน้าเพื่อลดปริมาณเชื้อในดินและบริเวณโดยรอบได้ แต่ไม่เหมาะกับการใช้ในระยะเมล็ด เนื่องจากอาจส่งผลต่อความงอกและการเจริญของคะน้าในระยะกล้าได้ ทั้งนี้การควบคุมโดยชีววิธีนี้ควรใช้ในช่วงเวลาที่เหมาะสมและควรใช้เพื่อป้องกันก่อนการเกิดโรค