xs
xsm
sm
md
lg

ขายได้ระเบิดเถิดเทิง! “อรรคิราห์ฟาร์มฯ ลาดยาว” ยึดปรัชญา “ในหลวง” นำต่อยอดแปรรูปปูนาผลิตได้ทั้งของหวานของคาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นครสวรรค์ - ถอดเส้นทางธุรกิจ “อรรคิราห์ ฟาร์มปูนา”..จากจุดเริ่มลูกสาวชอบเลี้ยงปูสวยงาม ขยายกลายเป็นศูนย์เรียนรู้ฯ-ต้นแบบเกษตรกรรุ่นใหม่ ยึดปรัชญา “ในหลวง” นำทาง ใช้เทคโนโลยีต่อยอดแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่มจากปูนากิโลฯ ละ 40-50 บาท เฉพาะมันปูขายได้กิโลฯ ละ 5,000 บาท แถมทำผลิตภัณฑ์ทั้งของคาวของหวานขายแทบไม่ทัน


กลายเป็นทั้งศูนย์การเรียนรู้ อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์-ศูนย์ต้นแบบเกษตรรุ่นใหม่ สำนักงานปฏิรูปที่ดิน จ.นครสวรรค์ รวมถึงวิสาหกิจชุมชนที่มีเครือข่ายขยายมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับ “อรรคิราห์ ฟาร์มปูนา อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์” ของครอบครัว “สายเพ็ชร์” ที่เริ่มต้นเลี้ยงปูนาจากแรงบันดาลใจที่ลูกสาวชื่นชอบการเลี้ยงปูสวยงามไว้ดูเล่น นำไปสู่การเลี้ยงปูนาแบบลองผิดลองถูก ขยายกลายเป็นฟาร์มปูนาแบบธรรมชาติ

นอกจากนี้ยังต่อยอดจากเดิมทำปูดองขายกิโลกรัมละ 40-60 บาท และขายปูนาได้ไม่กี่ถุงก็หมดแล้ว ศึกษานำเอาสายพันธุ์ปูนากำแพง สายพันธ์ปูนาพระเทพ นำมาผสมพันธุ์กันในบ่อเพาะเลี้ยงที่มีน้ำสะอาด ปรากฏว่าปูนาขยายพันธุ์เร็ว ก่อนแยกจากบ่ออนุบาลพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ลงสระธรรมชาติ ทำให้ปูนาขยายพันธุ์จนสามารถเก็บนำมาแปรรูปได้เพียงพอ

ล่าสุดได้แปรรูปปูนาเป็นน้ำพริก น้ำปรุงรส เป็นคุกกี้ ฯลฯ เพิ่มมูลค่าปูนาได้อีกหลายเท่าตัว และในบ่อยังสามารถเลี้ยงหอยเชอรี่ ขายกิโลกรัมละ 100 บาทควบคู่ไปด้วย

นางจรรยารักษ์ สายเพ็ชร์ เกษตรกรเจ้าของฟาร์ม “อรรคิราห์ ฟาร์มปูนา” เลขที่ 122 หมู่ 1 ต.ห้วยน้ำหอม อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ เปิดเผยว่า ประสบผลสำเร็จจากการแปรรูปปูนาเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพทั้งของคาวและของหวาน จนได้รับการคัดเลือกให้เป็นผลิตภัณฑ์ระดับจังหวัดและกำลังก้าวสู่ระดับประเทศ ด้านการวิจัยคุณภาพผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีการพัฒนาด้านต่างๆ เช่น กระบวนการผลิต วัตถุดิบท้องถิ่นจากภูมิปัญญา และตลาดออนไลน์ โดยล่าสุดมีอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ เข้าไปส่งเสริมให้ความรู้ด้านต่างๆ ด้วย

ผลิตภัณฑ์จากปูนาที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ คุกกี้จากปูนา ที่นำเอาเนื้อปูนามาแปรรูปเป็นขนม เนื่องจากขนมหวานจะทำให้ผู้บริโภคอ้วน เพราะจะทำจากนม เนย ไข่ ต่างๆ คนกินเข้าไปกลัวจะอ้วนได้ “อรรคิรา ฟาร์มปูนา” จึงลองผิดลองถูกนำเอาเนื้อปูนามาผสมกับเครื่องปรุงคุกกี้ แป้ง ไข่ เนย บางส่วน

จากนั้นก็ปรุงรสเค็ม เผ็ด หวานน้อย หวานมาก แล้วแต่สูตร ปรากฏว่ารสชาติอร่อย มีกลิ่นหอม กรอบ แถมมีแคลเซียมจากปูมาก เมื่อผู้บริโภคนำไปรับประทานเกิดชอบเพราะได้แคลเซียมจากปูนา ทำให้ขณะนี้ผลิตภัณฑ์คุกกี้ปูนาขายดิบขายดีผลิตได้ไม่พอจำหน่าย เวลาออกร้านไปเปิดบูทต่างๆ ได้รับความสนใจมาก

นอกจากนี้ ทางฟาร์มฯ ยังนำปูนามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น น้ำปรุงรสปูนา เป็นผลิตภัณฑ์ต้นทุนต่ำในชุมชน แต่มีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นการนำเอาปูนาจากส่วนต่างๆ มาแปรรูปด้วยสูตรเฉพาะของชาวบ้าน เช่น อกปู กระดองปู นำมาผสมกับเครื่องเทศในท้องถิ่น ปรุงรสให้เข้มข้น ไม่ใส่วัตถุกันเสีย สามารถนำเอาน้ำปรุงรสไปปรุงอาหารได้ทุกชนิด ทั้งทอด ต้ม แกง หมัก ปิ้ง ย่าง แทนซอสปรุงรสได้เลย

ผลิตภัณฑ์นี้ก็ได้รับความนิยมมาก เพราะว่าส่วนอก ท้องปูนาที่นำมาผสมกับเครื่องเทศท้องถิ่นนั้น มีคุณภาพ มีแคลเซียมสูง กระดองปูมีสารไคโตซาน เป็นสารธรรมชาติช่วยรักษากลิ่น คุณภาพคงที่ แถมรสชาติถูกปากชาวบ้าน หาซื้อไปปรุงรสทำอาหาร ราคาไม่แพง รสชาติอร่อย เวลานี้ได้รับความนิยมมีผู้คนเข้าคิวซื้อผลิตกันไม่ทันเช่นกัน


“ผู้บริโภคทราบดีว่าปูนาเลี้ยงจากธรรมชาติมีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก ปูนาคือสมุนไพรจำพวกสัตว์เลือดเย็น สรรพคุณช่วยดับพิษร้อน ลดการอักเสบ แก้ช้ำใน บำรุงกำลัง กระตุ้นการไหลเวียนโลหิตได้ดี มีสรรพคุณใกล้เคียงกับฤทธิ์ของถั่งเช่า และเขากวางเลยทีเดียว” นางจรรยารักษ์กล่าว และว่า นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่แปรรูปจากปูนาอีก เช่น มันปูนา ปูนาดอง เป็นต้น กำลังเป็นที่ต้องการของท้องตลาด

ส่วนเศษปูนา กระดองปูนา ส่วนที่เหลือจากการแปรรูปก็นำมาทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชะภาพผลิตปุ๋ยออร์แกนิกผสมดิน สามารถนำมาปลูกพืชหมุนเวียนได้อีก ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยพืชและดินที่สะอาด ปลอดภัยจะสามารถหมุนเวียนกลับเป็นอาหารปูนาในสระธรรมชาติได้อีกทางหนึ่ง เป็นการพัฒนาระบบคุณภาพสิ่งแวดล้อม หมุนเวียนแบบครบวงจร หรือ (BCG)

คือ 1. Bio Economy เป็นการนำความรู้มาพัฒนาต่อยอดความเข้มแข็งด้านทรัพยากรชีวภาพ 2. Circular Economy นำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่าที่สุด และ 3.Green Economy มุ่งเน้นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน






กำลังโหลดความคิดเห็น